6.03.2554

ปลุกด้านมืดในตัวคุณ : 5 Steps to Tyranny




 ปลุกด้านมืดในตัวคุณ : 5 Steps to Tyranny


“ ถ้ามีคนบอกให้คุณไปทำร้ายหรือฆ่าคนอื่น คุณจะทำหรือเปล่า ? ”

หากเจอคำถามนี้เราคงตอบทันทีว่า “ ไม่ ! ฉันจะไม่มีทางทำอย่างนั้นเด็ดขาด  ” เพราะ จิตสำนึกของเราคอยเตือนเราว่าการทำร้ายหรือฆ่าคนอื่นเป็นสิ่งที่ผิด และเรามั่นใจว่าจะไม่มีวันทำสิ่งนั้นเป็นอันขาด ไม่ว่ากับใคร ที่ไหน หรือเมื่อไหร่

แต่พวกเราทุกคนอาจคิดผิด !!!

มี ตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่า คนเราสามารถกระทำเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ ได้มากมาย แม้ว่าเขาจะไม่เคยมีวี่แววว่าเป็นคนเลวร้ายมาก่อนเลย เราเองก็เช่นกันหลายครั้งก็อาจทำเรื่องที่ขัดกับจิตสำนึกของเราได้โดยไม่รู้ตัว ถ้าบริบทแวดล้อมเหมาะสม 

แม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าเลวที่หนึ่งก็สามารถกลายเป็นคนเลวสามานย์ได้ หรือว่าจริง ๆ แล้วความดี - ความชั่วอาจไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์รอบตัวเรา 

“ 5 Steps to Tyranny ” ซึ่งเป็นสารคดีที่ผลิตโดย BBC และเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2001 ได้พยายามหาคำตอบนี้ แต่สิ่งที่ค้นพบกลับสร้างความตกตะลึง เมื่อพบว่า เพียงแค่ 5 ขั้นตอนสั้น ๆ ง่าย ๆ จากคนธรรมดาก็สามารถกลายเป็นทรราชย์ได้อย่างสมบูรณ์

ความน่าสนใจของ สารคดีชิ้นนี้ อยู่ที่การนำการทดลองทางจิตวิทยาต่างๆ มาเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเราสามารถกลายเป็นทรราชได้อย่างไร ทำให้แม้ว่าตัวสารคดีจะผ่านมาเป็น 10 กว่า ปีแล้ว แต่ก็ยังทันสมัยและมีประโยชน์อยู่เสมอ ทำให้เรานึกหวั่นใจตัวเองอยู่ตลอดว่าสักวันเราอาจกลายเป็นทรราชย์อย่างใน สารคดีจริง ๆ ก็ได้

สำหรับผมรู้จักสารคดีชิ้นนี้ครั้งแรกก็เมื่อปีที่ แล้ว ตอนเรียนวิชาความรุนแรงและสันติวิธีทางการเมืองในมหาวิทยาลัย อาจารย์ได้นำสารคดีชิ้นนี้มาฉายเพื่อแสดงให้เห็นว่า หากไม่ระวังคนเราก็พร้อมกระทำรุนแรงต่อกันได้เสมอ ส่วนตัวประทับใจสารคดีชิ้นนี้มาก และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน โดยเฉพาะในแง่มุมจิตวิทยา ซึ่งสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมาก และน่าจะตั้งในหว้ากอได้

ตัวสารคดีมีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง ผมจะเสนอตามลำดับ Step โดยในแต่ละ Step ก็จะแทรกข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองจิตวิทยาที่นำมาอ้างอิงในแต่ละ Step ด้วย สำหรับตัวคลิปนั้นเป็นภาษาอังกฤษครับ ไม่มีซับ จริงๆ ตอนดูในห้องเรียน ผมดูแบบซับไทย ซึ่งอาจารย์ทำให้ แต่อาจารย์ไม่ได้เอาฉบับซับไทยนั้นลง Youtube ดังนั้นที่หาดูได้ตอนนี้คือฉบับภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ

ป.ล. เนื้อหาในสารคดีอาจเรื่องเกี่ยวกับการเมืองบ้าง ดังนั้นถ้าใครจะลากเข้าเรื่องการเมือง บอกตามตรงว่า “ไม่ห้าม ” เนื่องจากคง “ห้ามไม่ได้ ” แต่ขอให้มี “สติ ” และ “เหตุผล ” ก็พอ




Step 1 – " Us " and " Them " - “ พวกเรา ” และ “ พวกเขา ”

ขั้นแรกสู่การเป็นทรราชย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ ในทุกๆ วันก็คือ การสร้างความแตกต่างระหว่าง “ พวกเรา ” และ “ พวกเขา ” ให้เกิดขึ้น 

โดยที่ทำให้กลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าพวกเราเหนือกว่า มีวิถีชีวิตที่ดีกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า ฯลฯ อีกกลุ่ม ความแตกต่างนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากเรื่องอุดมการณ์ที่สลับซับซ้อนแต่อย่าง ไร เพียงแค่ความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เลือกไม่ได้อย่างสีผิวหรือสีนัยย์ตาก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดการแบ่งแยกแล้ว 

และเมื่ออคติระหว่างกลุ่มเกิดขึ้น โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงตามมาก็สูง แม้แต่ในคนที่รู้จักกัน เมื่อแบ่งแยกกันเป็นคนละพวก ก็พร้อมจะกระทำความรุนแรงต่ออีกฝ่ายได้เสมอ และก็จะมีคนฉวยโอกาสจากความขัดแย้งนี้มาเป็นประโยชน์แก่ตัวเองเสมอ





Step 1 – " Us " and " Them " Video - “ พวกเรา ” และ “ พวกเขา ”  วีดีโอ

ในสารคดีได้อ้างอิงการทดลองของครู Jane Elliott ครูประถมในรัฐไอโอวา ในทศวรรษ 1960 โดยเกิดจากเด็กนักเรียนคนหนึ่งชื่อ Steven Armstrong เข้ามาถามว่าทำไม “ Martin Luther King ” ถึงโดนฆ่าตาย 

ครู Jane ไม่รู้จะอธิบายปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างสีผิวให้เด็กเข้าใจได้ยังไง เพราะเมืองนี้ไม่มีคนผิวสี เด็กไม่รู้จักการเหยียดผิว ดั้งนั้นครู Jane จึงได้จัดแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มนัยย์ตาสีน้ำตาล และนัยย์ตาสีฟ้า 

 โดยกลุ่มตาสีฟ้ามีสิทธิพิเศษมากกว่าพวกตาสีน้ำตาล เพียงไม่นานพวกตาสีฟ้าเริ่มทำตัวเป็นอันธพาลและหยิ่งยโส ขณะที่พวกตาสีน้ำตาลเริ่มแยกตัวออกห่าง ช็อก และเศร้าสร้อย นักเรียนคนหนึ่งบอกว่า “ มันเป็นความรู้สึกเดียวกับตอนคนผิวสีถูกเรียกว่านิโกร ” ซึ่งนั่นทำให้ครู Jane ตกใจมาก เพียงความแตกต่างเล็กน้อยก็นำมาสู่ความขัดแย้งได้แม้แต่ในเด็ก

ปัจจุบัน ครู Jane เป็นนักต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และได้นำผลการทดลองในวันนั้นไปบรรยายและอ้างอิงอยู่เสมอๆ




Jane Elliott 

Step 2 – Obey Orders ( เชื่อฟังคำสั่ง )

เรา มักคิดว่าเราไม่ได้เชื่อฟังคำสั่งในทุกเรื่อง แต่จะเชื่อฟังเฉพาะสิ่งที่คิดว่าดีเท่านั้น ถ้าโดนสั่งให้ไปฆ่าใคร เราก็จะไม่ทำ อย่างไรก็ตามสารคดีชิ้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเราพร้อมที่จะทำตามคำสั่ง ( ที่อาจมาในรูปคำขอร้อง ) ของผู้อื่นโดยไม่คิดไม่ถามให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ 



ซึ่งอาจเป็นผลจากการตัดรำคาญ หรือไม่คิดว่ามันจะส่งผลอะไรนัก ปัญหาคือเมื่อเรายอมทำตามโดยไม่ตั้งคำถามว่า “ ทำไมฉันจึงต้องทำแบบนั้น ” ก็มีโอกาสที่จะมีผู้ชักนำให้เรากระทำในสิ่งที่ผิด ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีอาชญากรรมที่เกิดจากการเชื่อฟัง มากกว่าการไม่เชื่อฟัง




Step 2 – Obey Orders ( เชื่อฟังคำสั่ง ) Video

การทดลองที่นำมาอ้างอิงในขั้นนี้ ทีมงานได้ซ่อนกล้องในรถไฟและให้ชายคนหนึ่งไปขอที่นั่งของผู้โดยสารแม้ว่าจะ มีที่อื่นว่าง ซึ่งผลปรากฏว่ากว่า 50% ยอมสละที่นั่งให้โดยไม่ถามคำถามอะไร และยิ่งเมื่อให้ชายคนนั้นมาพร้อมกับชายอีกคนซึ่งแต่งชุดเป็นตำรวจ อัตราการเชื่อฟังก็เพิ่มเป็น 100% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราพร้อมที่ยอมทำตามที่ผู้อื่นบอกมากเพียงไร



Step 3 - Do " Them " Harm ( ทำร้าย “ พวกเขา ” )

เมื่อ มีกลุ่มที่เหนือกว่าและพร้อมที่จะทำตามคำสั่ง ก็เป็นเรื่องง่ายที่เราจะทำร้ายคนอื่น หากผู้นำสั่ง แม้ว่าจะเป็นเรื่องขัดสามัญสำนึกของตัวเองก็ตาม การทำร้ายนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อผู้สั่งให้คำมั่นว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นเอง ( แต่จะรับจริงหรือป่าวไม่รู้ ) 

เราจะรู้สึกว่าคงไม่เป็นอะไร เพราะหากเกิดอะไรผิดพลาด เราก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ยิ่งถ้ามีการสร้างให้คู่ตรงข้ามเรามีคุณค่าต่ำกว่ามนุษย์ เราก็พร้อมที่จะกระทำรุนแรงได้ง่ายขึ้น การสร้างภาพศัตรูเป็นสัตว์ในช่วงสงคราม จึงมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อบ่อยๆ




Step 3 - Do " Them " Harm ( ทำร้าย “ พวกเขา ” ) Video



การทดลองในขั้นนี้ เป็นการทดลองเกี่ยวกับการเชื่อฟังของ Stanley Milgram นักจิตวิทยาการทดลองชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยเยลในปี 1961 โดย Milgram ได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมการทดลองผ่านโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ให้เข้าร่วม “ การศึกษาเกี่ยวกับความจำ ” เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 

โดยพวกเขาจะได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทเป็น “ ครู ” และได้รับคำสั่งให้อ่านชุดของคำศัพท์ที่จับคู่กันให้แก่ผู้เข้าร่วมการทดลองอีกกลุ่มหนึ่งหรือ “ นักเรียน ” ฟัง จากนั้น “ ครู ” จะทดสอบความจำของ “ นักเรียน ” โดยอ่านเฉพาะคำศัพท์คำแรก และให้ “ นักเรียน ” ตอบคำศัพท์อีกคำซึ่งจับคู่กับคำแรก หากตอบผิด “ ครู ” จะกดปุ่มช็อตไฟฟ้า “ นักเรียน ” โดยที่ " ครู " และ " นักเรียน " จะไม่เห็นหน้ากัน ได้ยินเพียงเสียง

ทั้งนี้กระแสไฟฟ้าที่ช็อตจะแบ่ง ออกเป็นระดับๆ แต่ละระดับต่างกัน 15 โวลต์ เพื่อไม่ให้ “ ครู ” รู้สึกถึงความแตกต่างของแต่ละระดับมากนัก หาก “ นักเรียน ” ตอบผิดอีก “ ครู ” ก็จะกดปุ่มช็อตไฟฟ้าในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ผลก็คือจากอาสาสมัครกว่า 900 คน ประมาณ 2 ใน 3 ใช้กระแสไฟฟ้าสูงถึง 450 โวลต์ สูงกว่าที่ใช้ตามบ้านเรือนกว่า 2 เท่า แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะประกาศก่อนทดลองว่าไม่มีทางใช้ไฟฟ้าช็อตคนที่ไม่ รู้จัก

ในตอนท้าย Milgram เฉลยว่าทั้งหมดเป็นการจัดฉาก “ นักเรียน ” เป็นทีมงานของเขา และไม่ได้ถูกช็อตไฟฟ้าจริงๆ เพียงแต่แกล้งแสดงความเจ็บปวดออกมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ก็ถูกตั้งคำถามด้านจริยธรรมพอสมควร




Stanley Milgram

Step 4 – “ Stand Up ” or “ Stand By ” ( “ ยืนหยัด ” หรือ “ ยืนดู ” )

เรา อาจคิดว่า เมื่อเจอสิ่งไม่ชอบธรรม เราจะลุกขึ้นต่อต้านทันที หรือเมื่อเจอคนประสบเหตุร้าย เราจะเข้าช่วยเหลือทันที อย่างไรก็ตาม การทดลองในสารคดีแสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่มีความกังวลเมื่อต้องตัดสินใจว่าจะเข้าแทรกแซงเรื่องใดหรือไม่ 

 หลายคนเลือกที่จะเพิกเฉย แต่การยืนดูอยู่รอบนอกในบางครั้งไม่ได้หมายความถึงการไม่ทำอะไรเลยเพียง อย่างเดียว แต่ยังคือการตัดสินใจไม่เข้าไปมีส่วนร่วม เมื่อคนเราไม่ยอมมีส่วนร่วมเมื่อพบเห็นสิ่งอยุติธรรม นั่นคือการอนุญาตให้ความอยุติธรรมนั้นดำเนินต่อไป 

ในทางจิตวิทยาสังคมเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “ กลุ่มคนดู ” ซึ่งมักมีจำนวนมากกว่า “ กลุ่มคัดค้าน ” จึงทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้อ้างความชอบธรรมของผู้นำเผด็จการ




Step 4 – “ Stand Up ” or “ Stand By ” ( “ ยืนหยัด ” หรือ “ ยืนดู ” ) Video



การทดลองในขั้นนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 การทดลอง อย่างแรกทีมงานได้ให้ชายคนหนึ่งออกไปพูดไฮด์ปาร์คต่อหน้าฝูงชนโดยที่ซ่อน ไมค์ไว้ ในประเด็นเรื่อง “ หากพบว่าเด็กในท้องพิการ ก็ควรกำจัดเสีย ไม่ควรให้เกิดมา ” ขณะที่ทีมงานก็แอบถ่ายปฏิกิริยาของฝูงชน 

ผลปรากฏว่ามีเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่พูดคัดค้าน ขณะที่เหลือเกือบร้อยคนยืนฟังเฉยๆ ไม่โต้ตอบและปล่อยให้ชายคนนั้นพูดจนจบ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของชายคนนั้นก็ตาม

ขณะ ที่การทดลองที่ 2 เป็นของ Dr.Mark Levine แห่งมหาวิทยาลัย Lancaster อังกฤษ โดยได้ให้ชายคนหนึ่งแกล้งวิ่งล้มต่อหน้าแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพื่อดูว่าเขาจะช่วยชายคนนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ได้ให้ชายคนนั้นใส่เสื้อทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูลสลับกัน 

ผลก็คือหากตอนนั้นชายคนนี้ใส่เสื้อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็จะได้รับการช่วยเหลือทุกครั้ง แต่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือเลยเมื่อใส่เสื้อลิเวอร์พูล นั่นแสดงให้เห็นว่า เราพร้อมจะช่วยหากเป็นคนที่มีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่จะเป็นเพียงผู้ยืนดูกับคนนอกกลุ่ม ซึ่งรวมไปถึงเหตุการณ์ที่เราคิดว่าไม่เกี่ยวกับเราด้วย



Dr.Mark Levine





Step 5 - Exterminate ( กำจัดให้สิ้นซาก )

การ กำจัดให้สิ้นซาก หรืออีกนัยหนึ่งคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหน้าประวัติศาสตร์ เราอาจประหลาดใจว่าในหลายกรณีการฆ่านั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เคยเป็นเพื่อน บ้านกัน เคยดูแลใส่ใจกัน กลายเป็นที่หมางเมิน เกลียดกัน และลุกขึ้นมาฆ่าคุณได้โดยไม่มีเหตุผล โดยที่เขาอาจไม่รู้สึกผิดแต่อย่างไร ทั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อคุณให้ “ อำนาจ ” แก่คนใดคนหนึ่งมากเกินไป




Step 5 - Exterminate ( กำจัดให้สิ้นซาก ) Video



การทดลองที่นำมาอ้างในขั้นนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการทดลองที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือ การทดลองคุกแสตนฟอร์ด (Stanford Prison Experiment) ของ ศาสตราจารย์ Philip Zimbardo แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ซึ่งได้คัดเลือกเด็กปริญญาตรีที่มีสุขภาพจิตดีจำนวน 24 คน มาแสดงบทบาทสมมติโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งแสดงเป็น “ นักโทษ ” และอีกกลุ่มแสดงเป็น “ ผู้คุม ” ( คล้ายกับการทดลองในขั้นที่ 1 แต่จริงจังกว่า ) 

 โดยใช้ห้องใต้ดินในมหาวิทยาลัยเป็นคุกจำลอง ทำทุกอย่างให้สมจริงที่สุด และมีกล้องวงจรปิดคอยจับตาพฤติกรรมตลอดเวลา ผลก็คือจากความรู้สึกขำ ๆ ในวันแรก ๆ วันต่อ ๆ มา “ ผู้คุม ” เริ่มอินกับบทบาทและ “ อำนาจ ” ที่ได้รับ จนเริ่มทำทารุณนักโทษรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะสั่งให้แก้ผ้า สั่งให้วิดพื้น จับอดอาหาร ฯลฯ 

โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่ “ ผู้คุม ” คิดว่ากล้องวงจรปิดไม่ทำงาน การทดลองนี้ต้องยุติลงภายในเวลา 6 วันจากที่กำหนดไว้ 14 วัน เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกิดขึ้น การทดลองนี้ยังถูกโจมตีด้านจริยธรรมอย่างหนัก แต่ก็ทำให้ Zimbardo ได้ข้อสรุปที่ว่า “ คนปกติธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าใครก็สามารถกลายเป็นคนเลวได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยุยงส่งเสริม ”

Zimbardo ได้นำการทดลองนี้มาสร้างทฤษฎี The Lucifer Effect อธิบายว่า คน เราไม่มีดีไม่มีชั่วแต่กำเนิด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม หากอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะเจาะคนดีสุดขีดก็สามารถกลายเป็นคนเลวสุดขั้วเช่นกัน 

อยากให้คนทำดี จึงต้องไปทำให้สภาพแวดล้อมดี ระบบดี ให้เอื้อต่อการทำดี ไม่ใช่ไปหวังกับคนดี ทั้งนี้ Zimbardo ยังได้เขียนหนังสือชื่อ The Lucifer Effect บันทึกการทดลองในแต่ละวันอย่างละเอียดอีกด้วย อนึ่งชื่อ Lucifer นั้นเป็นชื่อของเทวทูตในศาสนาคริสต์ ที่พระเจ้าสร้างขึ้น แต่ต่อมาคิดกบฏต่อพระเจ้า จึงถูกขับไล่จากสวรรค์ และกลายเป็นซาตานในนรก




Philip Zimbardo





ท้ายที่สุดนี้ขอทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวตอนท้ายในสารคดีที่ว่า

“ นี่ เป็นการเดินทางอันน่าสะพรึงกลัว แต่พฤติกรรมมนุษย์ที่นำไปสู่การกระทำที่เลวร้ายนี้ ก็เป็นพฤติกรรมเดียวกันกับที่สามารถนำไปสู่การเสียสละอันยิ่งใหญ่ ”

สุดท้ายนี้คงอยู่ที่คุณว่าจะยอมปล่อยให้ " ด้านมืด " ของตนเองออกมาหรือไม่


* หมายเหตุ

คลิปที่โพสข้างต้น มีการตัดบางฉากออก ใครอยากดูฉบับเต็ม 1 ชั่วโมง ตามลิงค์ข้างล่างเลยครับ




****************************************************************************

Reference : อ้างอิง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น