10.26.2554

การเมืองแบบไร้รัฐ : ANARCHISM



การเมืองแบบไร้รัฐ

ANARCHISM




อนาธิปไตย : การเมืองแบบไร้รัฐ

ลัทธิอนาธิปไตย  ( Anarchism )

ลัทธิอนาธิปไตย คือ ขอบข่ายอันหนึ่งของทัศนะทางการเมือง สำหรับชื่อนี้นำมาจากคำในภาษาลาตินว่า anarchia ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในการแปลคำศัพท์ในภาษากรีก avapxia ของอริสโตเติล
เมื่อแยกอุปสรรค ( prefix - คำที่ใช้เติมข้างหน้าออก ) av จะแปลว่า " without " ( ปราศจาก ) ซึ่งคำอุปสรรคนี้ไปรวมกันกับคำว่า apxia ซึ่งหมายถึง " command " ( ควบคุม, สั่งการ ) หรือ " rule " ( กฎเกณฑ์, ข้อบังคับ ) แปลโดยรวมก็คือ " ปราศจากการควบคุม หรือไม่มีกฎข้อบังคับ "


ลัทธิอนาธิปไตยในความเข้าใจทั่วไป 

ส่วนใหญ่แล้วความหมายของศัพท์คำนี้ คือ การอ้างอิงถึงสถานะทางการเมือง หรือความเชื่อที่ตรงข้ามกับกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรืออิทธิพลการครอบงำใด ๆ

 ในทางด้านทฤษฎี ลัทธิอนาธิปไตย มีรูปแบบอันหลากหลาย ซึ่งตรงกันข้ามกับกฎข้อบังคับของรัฐบาล และรัฐตัวแทน - รวมถึงรัฐ - และแทนที่ด้วยความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นเรื่องของความสมัครใจ และยอมรับกันในท่ามกลางปัจเจกชนทั้งหลายอย่างอิสระ

ลัทธิอนาธิปไตย ประกอบด้วยปรัชญาทางการเมืองที่หลากหลาย, องค์กรทางการเมือง, และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ให้การสนับสนุนในการขจัดรัฐออกไป และสิ่งที่เชื่อเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในลักษณะเบ็ดเสร็จ
ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองในลักษณะศูนย์กลาง 

ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ชื่นชอบความสัมพันธ์ทางสังคม ที่มีพื้นฐานอยู่บนสิ่งที่ได้รับการมองว่าเป็นความสัมพันธ์ทั้งหลายในลักษณะสมัครใจ 

ปรัชญาเหล่านี้ ใช้ " อนาธิปไตย " เพื่อมุ่งสู่สังคมหนึ่ง ที่มีรากฐานอยู่บนการปฏิสัมพันธ์แบบสมัครใจของปัจเจกชนเสรีทั้งหลาย

ความคิดอนาธิปไตยในเชิงปรัชญา ไม่ได้ให้การสนับสนุนภาวะความสับสนอลหม่าน หรือภาวะที่ขาดเสียซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรมหรือความปรกติของสังคม ( Does not advocate chaos or anomie ) ซึ่ง " อนาธิปไตย " เป็นวิธีการอันหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่ได้รับการสร้างขึ้นมาและธำรงรักษาไว้โดยเจตนา 

มีสิ่งที่น่าพิจารณาหลายหลากท่ามกลางการเมืองแบบอนาธิปไตย ความคิดเห็นต่าง ๆผิดแผกกันไปในพื้นที่อันหลากหลาย อย่างเช่น 
- ความรุนแรงควรถูกนำมาใช้เพื่อหนุนเสริมลัทธิอนาธิปไตยหรือไม่
- แบบฉบับชนิดใดของระบบเศรษฐกิจที่ควรจะดำรงอยู่ต่อไป 
- ลำดับชั้นสูงต่ำทางสังคมหรือการแผ่ขยายความมั่งคั่งอันไม่เท่าเทียมเป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธหรือไม่
- คำถามต่าง ๆที่มีต่อสภาพแวดล้อมและลัทธิอุตสาหกรรมอื่น ๆ
- บทบาทของบรรดานักอนาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย รวมตลอดถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 
- ฯลฯ

บรรดานักอนาธิปไตยหลายหลากสกุลความคิดต่าง ๆของลัทธิอนาธิปไตย อ้างว่า สกุลความคิดอื่น ๆซึ่งพวกเขาไม่ได้สังกัดหรือเป็นสมาชิก ไม่ใช่รูปแบบต่าง ๆของลัทธิอนาธิปไตย

อดีตและปัจจุบันของลัทธิอนาธิปไตย

ในบทความที่นักศึกษาและท่านผู้ที่สนใจกำลังได้อ่านอยู่ในขณะนี้ ผู้เรียบเรียงจะนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาทางด้านประวัติศาสตร์ของลัทธิอนาธิปไตยโดยสังเขป รวมตลอดถึงพัฒนาการต่าง ๆจนกระทั่งถึงการมาบรรจบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านอนาธิปไตย โดยแบ่งเป็นหัวข้อย่อยดังต่อไปนี้

1. ผู้มาก่อนของลัทธิอนาธิปไตย ( Precursors of anarchism )

2. ลัทธิอนาธิปไตยสมัยใหม่ ( Modern anarchism )

3. ลัทธิอนาธิปไตยในปัจจุบัน ( Anarchism today )






ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับลัทธิอนาธิปไตย ( History of Anarchism )

1. ผู้มาก่อนของลัทธิอนาธิปไตย ( Precursors of anarchism )

     ในช่วงยุคสมัยของการล่าสัตว์และการเก็บรวบรวมอาหาร กล่าวคือ ก่อนช่วงที่จะมีการบันทึกทางประวัติศาสตร์ สังคมมนุษย์ส่วนใหญ่ดำรงอยู่ในลักษณะ Super family ( หมายถึงการจัดหมวดหมู่ที่คล้าย ๆกันทางชีววิทยา ซึ่งอยู่ระหว่างความต้องการ ( Order )  กับครอบครัว ( Family ) ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่มีรัฐ



การสะสมความมั่งคั่งมีเพียงเล็กน้อย หรือการแบ่งแยกแรงงานยังมีไม่มากนัก นอกจากนี้ยังไม่มีกฎหมายหรือผู้ปกครองด้วย ซึ่งในยุคดังกล่าวอาจเรียกว่าเป็นอนาธิปไตยในยุคดึกดำบรรพ์ ( Primitive Anarchy )

บรรดานักอนาธิปไตยบางคนได้ยึดเอาหลักการของลัทธิเต๋าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งพัฒนาขึ้นในจีนโบราณในฐานะที่เป็นแหล่งต้นตอหนึ่งของท่าทีหรือทัศนคติแบบอนาธิปไตย ในทำนองเดียวกัน แนวโน้มต่าง ๆของอนาธิปไตยสามารถติดตามร่องรอยย้อนกลับไปได้ถึงยุคของบรรดานักปรัชญาชาวกรีกโบราณได้เช่นกัน อย่างเช่น Zeno ผู้ก่อตั้งปรัชญาสโตอิค (1)
และ Aristippus ซึ่งกล่าวว่า คนฉลาดไม่ควรที่จะสละเสรีภาพของพวกเขาให้กับรัฐ ( The wise should not give up their liberty to the state ) 



ส่วนความเคลื่อนไหวในช่วงหลังต่อมา มีตัวอย่างเช่น Stregheria ในช่วงปี 1300 จิตวิญญาณอิสระ ( Free Spirit ) หรือในยุคกลาง เช่น The Anabaptists ( 2 ), The Diggers ( 3 ) และ The Ranters ( 4 ) ก็ได้รับการอธิบายว่าถูกตีความในฐานะนักอนาธิปไตย


การใช้ศัพท์คำว่า " อนาธิปไตย " ในโลกตะวันตก ซึ่งเป็นที่รับรู้กันครั้งแรกปรากฏขึ้นในบทละครเรื่อง Seven Against Thebes โดย Aeschylus ประมาณช่วงเวลา 467 BC. 

Antigone ( พระธิดาของกษัตริย์ Oedipus ซึ่งไม่เชื่อฟังพระราชบิดา และถูกตัดสินประหารชีวิต ) ทรงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำบัญชาของพระราชบิดา ( ผู้ปกครอง ) อย่างเปิดเผย โดยพระองค์ ( ผู้ปกครอง ) มีพระราชประสงค์ให้ปล่อยซากศพพระอนุชาของพระองค์เอาไว้โดยไม่มีการฝังกลบ ในฐานะที่เป็นการลงโทษสำหรับการมีส่วนร่วมของพระองค์ในการโจมตีต่อ เมือง Thebes ( เมืองโบราณของกรีก )
Antigone ทรงตรัสว่า " แม้ว่าจะไม่มีใครเลย ที่ปรารถนาจะมีส่วนร่วมในการฝังร่างของพระองค์ ( พระอนุชา ) ข้าก็จะฝังร่างของพระองค์แต่เพียงลำพัง และเสี่ยงที่จะตกอยู่ในอันตรายเพราะการฝังซากศพพระอนุชาของข้า และข้าไม่ละอายที่จะกระทำในทางที่ตรงข้ามและท้าทายนี้ต่อผู้ปกครองของนาคร ( ekhous apiston tend anarkhian polei ) "

กรีกโบราณยังมองถึงกรณีตัวอย่างของลัทธิอนาธิปไตยตะวันตก ในฐานะที่เป็นอุดมคติหนึ่งมาแต่แรกด้วย ในรูปแบบของนักปรัชญาสโตอิค Zeno of Citium ผู้ซึ่งตามความคิดของ Kropotkin เขาเป็นตัวแทนหรือนักอธิบายที่ดีที่สุดเกี่ยวกับปรัชญาอนาธิปไตยในยุคกรีกโบราณ

 ดังที่กล่าวเอาไว้ในเชิงสรุปโดย Kropotkin ว่า " Zeno บอกปัดด้วยการปฏิเสธความมีอำนาจของรัฐ การแทรกแซงของรัฐ และการปกครองหรือการควบคุมของมัน และประกาศถึงอำนาจอธิปไตยของกฎทางศีลธรรมของปัจเจกชน ( Proclaimed the sovereignty of the moral law of the individual )

ภายในปรัชญากรีก ทัศนะของ Zeno เกี่ยวกับชุมชนอิสระชุมชนหนึ่ง( A free community ) ที่ปราศจากรัฐบาล เป็นเรื่องที่ตรงข้ามกับ " รัฐยูโธเปีย " ในเรื่อง " สาธารณรัฐ " ของเพลโต ( The state-Utopia of Plato's Republic ) Zeno ได้ให้เหตุผลว่า แม้ว่าโดยสัญชาติญาณจะจำเป็นต้องมีการดูแลปกป้องตนเอง ( Self-preservation ) และมันได้น้อมนำมนุษย์ไปสู่ความเห็นแก่ตัว ( Egotism ) แต่ธรรมชาติก็ให้การเยียวยามันโดยจัดหาสัญชาติญาณอีกอันหนึ่งมาให้กับมนุษย์ นั่นคือ ความสามารถในการมีความสัมพันธ์ทางสังคม ( Sociability )

คล้าย ๆกับบรรดานักอนาธิปไตยสมัยใหม่คนอื่น ๆเขาเชื่อว่า ถ้าหากมนุษย์ดำเนินรอยตามสัญชาติญาณของตนเอง พวกเขาจะไม่ต้องการกฎหมายเลย ไม่ต้องมีศาลหรือตำรวจ, ไม่ต้องมีวัด, และไม่ต้องบูชาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สาธารณะทั้งหลาย และไม่ต้องใช้เงิน ( เศรษฐกิจแบบการให้ ( A gift economy ) จะเกิดขึ้นท่ามกลางการแลกเปลี่ยน 
ความเชื่อต่างๆของ Zeno นำพาเราเข้าถึงความคิดอนาธิปไตย ด้วยคำพูดข้างต้น

The Anabaptists ( ผู้ที่แยกตัวจากโบสถ์และรัฐอย่างสมบูรณ์ คนเหล่านี้เชื่อในปฐมบรรพ์แห่งพระคัมภีร์ไบเบิล ) ในคริสตร์ศตวรรษที่ 16 ของยุโรป บางครั้งได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นบรรพบุรุษหรือผู้มาก่อนทางศาสนาเกี่ยวกับลัทธิอนาธิปไตยสมัยใหม่ 

Bertrand Russell ในงานเขียนของเขาเรื่อง History of Western Philosophy เขียนไว้ว่า บรรดา Anabaptists ทั้งหลาย " ปฏิเสธกฎเกณฑ์ทั้งปวง นับจากการที่พวกเขาถือว่า คนดีนั้นจะได้รับการน้อมนำในทุกๆชั่วขณะ โดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ( The Holy Spirit ) " จากสมมุติฐานอันนี้ พวกเขาได้มาถึงลัทธิคอมมิวนิสม์  นวนิยายเรื่อง Q ได้นำเสนอภาพที่เสกสรรค์ขึ้นมาอันหนึ่งเกี่ยวกับขบวนการนี้ และอุดมคติในเชิงปฏิวัติของมัน

ในปี ค.ศ.1548 Tienne de la Botie ได้เขียนเรื่อง The Politics of Obedience : The Discourse of Voluntary Servitude, ( การเมืองเรื่องการเชื่อฟัง : วาทกรรมเกี่ยวกับความเป็นข้ารับใช้ด้วยความสมัครใจ ) เป็นความเรียงเรื่องหนึ่งซึ่งได้ทำการสำรวจถึงคำถามเกี่ยวกับว่า ทำไมผู้คนทั้งหลายจึงเชื่อฟังบรรดาผู้ปกครอง

Gerrard Winstanley แห่ง The Diggers ซึ่งได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มเล็ก ๆเรียกร้องความเป็นเจ้าของชุมชน และองค์กรทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนต่าง ๆทางกสิกรรมในคริสตศตวรรษที่ 17 ซึ่งได้รับการพิจารณาว่าเป็น " บรรพบุรุษของลัทธิอนาธิปไตยสมัยใหม่ " ด้วยเช่นกัน
ควรได้รับการบันทึกลงไปด้วยว่า ความเรียงที่อุทิศเนื้อหาให้กับการไม่มีรัฐบาลอย่างแจ่มชัด เรื่อง " A Vindication of Natural Society " ( การพิสูจน์ให้เห็นเกี่ยวกับสังคมธรรมชาติ ) ได้รับการเขียนขึ้น และได้รับการ
ตีพิมพ์โดยไม่ระบุชื่อในปี ค.ศ. 1756 โดย Edmund Burke บุรุษที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางให้เป็น บิดาผู้ก่อตั้งลัทธิอนุรักษ์นิยมสมัยใหม่

ในการค้นพบนั้น เขาเป็นผู้ประพันธ์เกี่ยวกับความเรียงที่ไม่ระบุชื่อ Burke ยกเลิกการเขียนในลักษณะเหน็บแนมเสียดสี มันมีความขัดแย้งบางอย่างเกี่ยวพันกับความจริงใจเกี่ยวกับการยุติบทบาทของ Burke ในเรื่อง " การพิสูจน์ " งานเขียนที่โดดเด่นมากสุดอันหนึ่งต่อข้อถกเถียงนี้คือ ความเรียงเรื่อง " Edmund Burke Anarchist " ( เอ็ดมันด์ เบิร์ก นักอนาธิปไตย ) ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ.1958 ของ Murray Rothbard ส่วนบรรดานักอนาธิปไตยคนอื่น ๆอย่างเช่น Godwin และ Tucker ถูกรู้จักและคำนึงถึงความเรียงดังกล่าว ในฐานะที่เป็นข้อเขียนที่สำคัญชิ้นหนึ่งต่อปรัชญาของพวกเขา





2. ลัทธิอนาธิปไตยสมัยใหม่ ( Modern anarchism )

ในปี ค.ศ.1793 William Godwin ได้ตีพิมพ์เรื่อง An Enquiry Concerning Political Justice ( การสืบสาวในเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมทางการเมือง ) ซึ่งเขาได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของตัวเองเกี่ยวกับสังคมอิสระโดยเลียบ ๆเคียง ๆไปกับการวิจารณ์รัฐบาล

 บางคนเห็นว่า งานชิ้นนี้คือความเรียงชิ้นแรกของนักอนาธิปไตย และเรียก Godwin ว่า " ผู้ก่อตั้งลัทธิอนาธิปไตยในทางปรัชญา " มันแตกต่างและไม่เหมือนกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อปัจเจกชนทั้งหลายต่างพิทักษ์และปกป้องพวกเขาเองจากผู้รุกรานต่างๆ
 Godwin คัดค้านความร่วมมือทุกๆชนิดในเรื่องแรงงานท่ามกลางปัจเจกชนทั้งหลาย ( แม้แต่การประสานหรือร่วมมือกันในวงดนตรีออร์เคสตร้าก็ถูกคัดค้าน ) เขาเป็นผู้เสนอคนแรก ๆเกี่ยวกับลัทธิเสรีนิยม ซึ่งได้ให้การสนับสนุนสิทธิของปัจเจกชนต่อการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยการนิยามมันในฐานะที่เป็น " จักรวรรดิ์ที่มนุษย์ทุกคนได้รับสิทธิ์เหนือผลผลิต ในความอุตสาหะของตนเอง " แต่อย่างไรก็ตาม เขาส่งเสริมให้ปัจเจกชนทั้งหลาย ปันส่วนในทรัพย์สินส่วนเกินของตนเองโดยความสมัครใจ ให้กับคนเหล่านั้นที่ต้องการมัน 

Pierre-Joseph Proudhon ผู้ประพันธ์เรื่อง " What is Property ? " ( อะไรคือทรัพย์สิน ? )
ในปี ค.ศ.1840 ถือเป็นปัจเจกชนคนแรกที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักอนาธิปไตย ในฐานะนักปัจเจกอนาธิปไตยคนหนึ่ง เขาต่อต้านลัทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ( Collectivism ) และให้การสนับสนุนสิทธิปัจเจกชนในเรื่องทรัพย์สิน และเศรษฐกิจการตลาด ซึ่งการแลกเปลี่ยนมูลค่าของสินค้าได้รับการกำหนดโดยปริมาณแรงงานที่ใส่เข้าไปในผลิตผลของพวกเขา แม้ว่าเขาจะมีชื่อเสียงสำหรับคำพูดที่ว่า " ทรัพย์สินคือการขโมย " ( Property is theft ) ซึ่งอันที่จริงเขาอ้างถึงการคุ้มครองของรัฐเกี่ยวกับผืนดินที่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าผลผลิตจากแรงงานของคน ๆหนึ่ง ควรได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของผู้ลงแรงนั้น เขามีความเชื่อว่าทรัพย์สินเป็นแก่นแท้ของเสรีภาพของปัจเจกชน  " ที่ไหนกันล่ะ ที่เราจะค้นพบพลังความสามารถเกี่ยวกับการถ่วงดุลกับรัฐ ? ไม่มีเลย เว้นแต่ทรัพย์สิน สิทธิอันสมบูรณ์ของรัฐคือสิ่งที่ขัดแย้งกับสิทธิอันสมบูรณ์ของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ทรัพย์สินคือพลังปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่สุดที่ดำรงอยู่ " เขามีความชื่นชมต่อการการปลดเปลื้องอำนาจรัฐบาลทิ้งไป แต่เขาไม่เชื่อว่าการปลดเปลื้องอำนาจรัฐทั้งหมดนั้นจะเป็นไปได้ ดังนั้นจึงส่งเสริมและสนับสนุนการลดขนาดของรัฐลงให้มากที่สุด

Proudhon กล่าวว่า " สถาบันต่าง ๆอย่างเช่น ตำรวจ, การป้องกัน และการป้องปรามแบบราชการ, การจัดเก็บภาษี ฯลฯ ควรถูกลดลงมาให้เป็นสถาบันที่เล็กที่สุด " Proudhon ก็คล้าย ๆกับบรรดานักอนาธิปไตยคลาสสิกเกือบทั้งหมด ในฐานะที่เป็นผลลัพธ์ของหลักทฤษฎีมูลค่าแรงงาน ( labor theory of value ) ซึ่งคัดค้านเรื่องผลกำไร  Labor theory of value  ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน เป็นทฤษฎีที่อธิบายว่า มูลค่าของสินค้ากำหนดจากจำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้น 

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานโดยตรงในการผลิตสินค้านั้น หรือการใช้แรงงานโดยอ้อมในการปรับปรุงที่ดินหรือสร้างเครื่องจักรขึ้นมาใช้ผลิตร่วมในสินค้านั้น เป็นทฤษฎีที่พัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิคในปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 ในทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะทฤษฎีต้นทุนสัมพัทธ์ ( Comparative Cost Theory ) มีการนำแนวคิดมูลค่าแรงงานมาใช้ในการกำหนดต้นทุนสินค้า กล่าวคือต้นทุนสินค้ามีค่าเท่ากับจำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิต และ คาร์ล มาร์กซ์ ได้นำทฤษฎีนี้มาอธิบายว่า การที่นายทุนขายสินค้าในราคาสูงกว่าต้นทุนค่าจ้าง เป็นการขูดรีดแรงงาน ( Labour Theory of Surplus Value )

มีข้อสังเกตว่า การยึดแนวทางดังกล่าว ทำให้ผู้วางแผนในสหภาพโซเวียตประเมินต้นทุนของปัจจัยทุนต่ำเกินไป ทำให้การใช้ปัจจัยทุนขาดประสิทธิภาพ จุดอ่อนของทฤษฎีนี้ได้แก่ การประเมินต้นทุนรวมต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะไม่รวมค่าตอบแทนปัจจัยทุน และการจัดประเภทของแรงงาน และการจ่ายค่าจ้างไม่ได้สะท้อนความสามารถที่หลากหลาย แรงงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งเป็นการสูญเสียปัจจัยแรงงานในทางอ้อม Josiah Warren ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกันกับ Proudhon ที่ได้ประพันธ์ปรัชญาปัจเจกชนเกี่ยวกับธรรมชาติในทำนองเดียวกันกับ Proudon ซึ่งต่อต้านและคัดค้านการมีอยู่ของรัฐบาลอย่างแจ่มชัด 

 Warren ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจอันหนึ่งซึ่งเขาได้ถือปฏิบัติด้วย
โดยมีพื้นฐานอยู่บนทฤษฎีมูลค่าแรงงาน ซึ่งการแลกเปลี่ยนถูกทำให้สะดวกหรือให้การสนับสนุนโดยสื่อกลางอย่างเช่น " labor notes " ( ตั๋วแรงงาน ชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับแลกสิ่งของ เช่น ทำงานสามชั่วโมง จะได้ตั๋วที่แลกกับข้าวโพตได้กี่ปอนด์ เป็นต้น )


 Labor note หรือตั๋วแรงงานใช้สำหรับแลกกับสิ่งของจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต




ต่อมาภายหลัง Proudhon ได้เสนอระบบในลักษณะเดียวกันนี้และเรียกมันว่า ลัทธิพึ่งพากันและกัน ( Mutualism ) คนจำนวนมากพิจารณาว่าวารสารที่ Warren ตีพิมพ์และเป็นบรรณาธิการ ซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ.1833 ที่ชื่อว่า The Peaceful Revolutionist ( นักปฏิวัติในแนวสันติวิธี ) ถือเป็นวารสารฉบับแรกของนักอนาธิปไตย 

Warren ได้ริเริ่มจารีตเกี่ยวกับลัทธิปัจเจกอนาธิปไตยอเมริกันขึ้น
โดยที่ Proudhon ยังคงมีอิทธิพลต่อมา โดยผ่านงานของ Benjamin Tucker ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเขา ปัจเจกชนทั้งหลาย ได้อะไรไปมากจากงานเขียนต่างๆของ Max Stirner ในท่ามกลางคนอื่น ๆซึ่งเรียกร้องการเคารพอย่างสูงต่อเสรีภาพของปัจเจกชน 

ขณะที่ปัจเจกชนบางคนมองไปที่กฎธรรมชาติเพื่อให้เหตุผลและอธิบายถึงลัทธิปัจเจกชนนิยม " ความเห็นแก่ตัว " ( Egoism ) ของ Stirner ถือว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นเพียงสิ่ง เดียวของคำอรรถาธิบายที่ถูกทำนองครองธรรมสำหรับการกระทำ จารีตของคนอเมริกันเกี่ยวกับลัทธิปัจเจกอนาธิปไตย ได้ให้การสนับสนุนอย่างมั่นคงต่ออธิปไตยส่วนตัว, ทรัพย์สินส่วนตัว, เศรษฐกิจการตลาดเสรี ( In support of individual sovereignty, private property, and a free market economy )

แม้ว่าคนอเมริกันจะต่อต้านบรรดานายจ้างทั้งหลาย ในการหักผลกำไรจากค่าแรงต่างๆ การเรียกเก็บผลประโยชน์ และส่วนใหญ่คัดค้านการซื้อ การขาย และการเช่าที่ดินที่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์หรือไม่มีเจ้าของ พวกเสรีนิยม บ่อยครั้งได้รับการปิดป้ายฉลากเป็น " พวกอนาธิปไตย " โดยพวกราชาธิปไตย แม้ว่าพวกเขาไม่ได้เรียกร้องให้มีการเลิกล้มรัฐแต่อย่างใด แต่พวกเขายังคงสนับสนุนความคิดให้ลดอำนาจรัฐให้เหลือน้อยที่สุด ส่งเสริมสิทธิของปัจเจกชน และความรับผิดชอบของผู้คนในการตัดสินรัฐบาลต่างๆของพวกเขา ซึ่งได้วางรากฐานสำหรับการพัฒนาความคิดเกี่ยวกับอนาธิปไตยขึ้นมา 

เรื่อง " The Law " ( 1849 ) โดย Frederic Bastiar ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของงานเขียนหรือบันทึกที่ต่อต้านเสรีนิยมผู้ล่วงหน้ามาก่อนหรือบรรพบุรุษของลัทธิทุนนิยมอนาธิปไตย ( Anarcho - capitalism ) คือ Gustave de Molinari  ผู้ซึ่งได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับตัวแทนต่าง ๆในการปกป้องตนเองใน The Production of Security ( 1849 ) อันนี้คือความพยายามครั้งแรกในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยในวิธีการไม่มีรัฐ บรรดานักคิดก่อนหน้านั้น โดยทั่วไปแล้ว สันนิษฐานว่า การไร้รัฐจะน้อมนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในธรรมชาติของมนุษย์ การเรียกร้องความยุติธรรมส่วนตัวจะเพียงพอ หรือหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ 

ในสหรัฐอเมริกา ความคิดต่าง ๆทางด้านอนาธิปไตยได้รับการแสดงออกมาในงานเขียนของ Henry David Thoreau ( อย่างเช่นเรื่อง Civil Disobedience – การดื้อแพ่ง ) Josiah Warren และ Benjamin Tucker

บรรดานักปัจเจกอนาธิปไตย อย่างเช่น Tucker ได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนต่างๆของ Herbert Spencer และ Max Stirner ในท่ามกลางคนอื่นๆ ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 บรรดานักทฤษฎีฝ่ายซ้ายอนาธิปไตย ( Anarchist collectivist theorists ) อย่าง Mikhail Bakunin และบรรดาคอมมิวนิสท์อนาธิปไตยทั้งหลาย (Anarchist communists ) อย่าง Peter Kropotkin ได้วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิทุนนิยมคู่ขนานไปกับมาร์กซิสท์ และสังเคราะห์มันกับการวิจารณ์รัฐของพวกเขา 

โดยการเน้นถึงความสำคัญของมุมมองเกี่ยวกับชุมชน เพื่อธำรงรักษาเสรีภาพของปัจเจกชนและในบริบทของสังคม และบทบาทในเชิงวิพากษ์ของบรรดาคนงานทั้งหลาย ในฐานะองคาพยพที่ดูแลจัดการตนเองเกี่ยวกับผลผลิตและการสร้างสรรค์ของพวกเขา 

สมาคมคนงานนานาชาติ ( The International Workingmen's Association )
 นับจากที่สมาคมได้รับการก่อตั้งขึ้น เป็นกลุ่มพันธมิตรของบรรดานักสังคมนิยมทั้งหลาย ที่รวมเอาทั้งบรรดานักอนาธิปไตยและมาร์กซิสท์เข้ามาไว้ด้วยกัน ทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ( ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ไร้รัฐ - Stateless communism ) และมีปรปักษ์ร่วมกัน ( คือพวกอนุรักษ์นิยมและพวกฝ่ายขวาอื่นๆ ) แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายต่างวิพากษ์วิจารณ์กันและกัน และความขัดแย้งที่มีอยู่อย่างแยกไม่ออกระหว่างทั้งสองฝ่าย ในไม่ช้าก็ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในการถกเถียงกัน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง Mikhail Bakunin ที่เป็นตัวแทนความคิดอนาธิปไตย และ Karl Marx อันเป็นตัวแทนความคิดของตนเอง 

โดยทั่วไป มาร์กซ์ต้องการทำงานอยู่ภายในระบบ ใช้โครงสร้างองค์กรที่แบ่งเป็นลำดับชั้นสูงต่ำ และผลักดันผู้คนในการเลือกตั้ง

ส่วน Bakunin รังเกียจความคิดเหล่านี้ และทำนายว่า ถ้าหากว่าการปฏิวัติได้รับชัยชนะขึ้นมาภายใต้พรรคปฏิวัติมาร์กซิสท์ มันก็จะจบลงลงด้วยความเลวร้ายเท่ากับชนชั้นปกครอง ที่พวกเขาพยายามต่อสู้ 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่า Mikhail Bakunin เห็นถึงความต้องการอันหนึ่งที่จะพิทักษ์ปกป้องชนชั้นคนงานจากการกดขี่ และโค่นล้มชนชั้นปกครองลง และเขาทำนายว่าสภาคนงานประชาธิปไตยจะก่อตัวขึ้นในช่วงอนาคตของการปฏิวัติ และบรรลุถึงบทบาทอันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1872 ความขัดแย้งใน The First Internation ได้ถึงจุดสุดยอดโดยการขับ Bakunin และคนเหล่านั้นที่กลายเป็นที่รู้จักในฐานะ Bakuninists ทั้งหลายออกไป เมื่อพวกเขาได้ถูกทำให้แพ้โดยเสียงส่วนใหญ่ของพรรคมาร์กซ์ ณ การประชุมรัฐสภา Hague Congress

บ่อยครั้งสำหรับเหตุการณ์นี้ที่ได้รับการอ้างในฐานะที่เป็นต้นกำเนิด ของความขัดแย้งระหว่างบรรดานักอนาธิปไตยกับบรรดามาร์กซิสท์ทั้งหลาย ลัทธิคอมมิวนิสท์อนาธิปไตยของ Peter Kropotkin พัฒนาขึ้นมาจากทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่มีพื้นฐานอยู่บนวิวัฒนาการ ซึ่งปฏิบัติการร่วมกันอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ หรือแข่งขันกันจนเลยเถิดในความสำคัญ ดังที่แสดงให้เห็นใน Mutual Aid : A Factor in Evolution ( 1897 ) การปฏิวัติบางคราวในช่วงเวลานี้ได้ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง อย่างเช่นการระเบิด และการลอบสังหารผู้นำรัฐทั้งหลาย เพื่อลัทธิอนาธิปไตยจะได้ขยายตัวออกไป 

แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวได้ถูกพิจารณาโดยบรรดานักอนาธิปไตยทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือไม่นำไปสู่เป้าหมายดังที่ตั้งใจไว้ ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 Anarcho - syndicalism ( ลัทธิสมาคมแรงงานอนาธิปไตย ) ได้พัฒนาขึ้นในรูปของลัทธิคอมมิวนิสต์เสรีชน ซึ่งเน้นการกระทำต่าง ๆในด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสไตร์คทั่ว ๆไป ในฐานะเป็นยุทธิวิธีขั้นแรกเพื่อนำไปสู่การบรรลุผลเกี่ยวกับการปฏิวัติอนาธิปไตย และการสร้างสังคมใหม่ขึ้นมาในกระดองเก่า ( Build the new society in the shell of the old )

บรรดานักอนาธิปไตยทั้งหลายได้แสดงบทบาทในขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านแรงงานมากมาย เช่น การจลาจล และการปฏิวัติต่าง ๆนับจากช่วงปลายของคริสตศตวรรษที่ 19 และในช่วงต้นของคริสตศตวรรษที่ 20 รวมทั้งการปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ.1917 

ในสหรัฐอเมริกา ผู้อพยพมาใหม่จำนวนมากเป็นพวกอนาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่โดดเด่นคือบรรดาผู้อพยพเชื้อสายยิวมากมายที่มาจากฝ่ายซ้ายของรัสเซียและยุโรปตะวันออก ในช่วงระหว่างปลายคริสตศตวรรษที่ 19 และต้นคริสตศตวรรษที่ 20  กลุ่มต่าง ๆเหล่านี้ได้ถูกทำให้แตกสลายลงโดย " สถานการณ์ภัยแดงในช่วงปี ค.ศ.1919 " ( Red Scare of 1919 ) Emma Goldman ถือเป็นนักอนาธิปไตยและนักสิทธิสตรีที่ทรงอิทธิพลมากคนหนึ่งในช่วงเวลานี้

เธอเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆทั่วโลก เพื่อเผยแผ่ความคิดอนาธิปไตยต่าง ๆและพยายามที่จะดำรงชีวิตอย่างนักอนาธิปไตยคนหนึ่ง การปรับตัวของ Anarcho - syndicalist เกี่ยวกับสหภาพแรงงานอเมริกันจำนวนมากในช่วงต้น ๆได้แสดงบทบาทอย่างมากในการก่อตัวของสเปกตรัมการเมืองอเมริกัน ( Political spectrum ) สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นอาณานิคมอังกฤษมาก่อน และเป็นประเทศทางด้านอุตสาหกรรมเพียงแห่งเดียวที่ไม่มีพรรคการเมืองที่มีฐานมาจากพรรคแรงงาน

ในเม็กซิโก พวก Anarcho - syndicalists อย่าง Ricardo Flores Magn ได้น้อมนำการปฏิวัติและการก่อจลาจลหลายครั้ง ซึ่งช่วยให้เกิดการโค่นล้มเผด็จการ Diaz และนำไปสู่หนทางสำหรับความเจริญงอกงามของลัทธิอนาธิปไตยในลาตินอเมริกา และยังได้ส่งอิทธิพลอย่างต่อเนื่องให้กับการก่อกบฎของขบวนการซาปาติสต้า ( Zapatista ) สมัยใหม่ด้วย 

ยุโรป ในช่วง 25 ปีแรกของคริสตศตวรรษที่ 20 ขบวนการอนาธิปไตยค่อนข้างบรรลุผลสำเร็จ แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาเพียงสั้น ๆทั้งการประสบความสำเร็จและการถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐ

ในสหรัฐอเมริกา องค์กรอนาธิปไตยต่าง ๆได้ถูกบดขยี้ลงเช่นกันในช่วงระหว่างการสร้างสถานการณ์ภัยแดงขึ้นมา ( 1919 - 20 ) แต่อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ 1920s และ 1930s ความขัดแย้งระหว่าง ลัทธิอนาธิปไตยกับรัฐ ได้ถูกบดบังรัศมีโดยแนวคิดเสรีประชาธิปไตย 

ลัทธิฟาสซิสม์ และคอมมิวนิสม์ จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของลัทธิฟาสซิสม์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองของสเปน ( 1936-1939 ) ขบวนการอนาธิปไตยประชาชนที่แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ได้รับการสนับสนุนโดยทหารกองหนุน ( ทหารประชาชน – Militias ) ที่จงรักภักดีต่อสาธารณรัฐ พวกเขาได้เข้าควบคุมพื้นที่ชนบทต่าง ๆทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสเปนในปี ค.ศ.1936 - 1937 และได้ทำการรวบรวมผืนแผ่นดินเหล่านั้นเข้าด้วยกัน แต่ในท้ายที่สุดพวกเขาได้ถูกปราบปรามโดยทหารรีพับลิกันที่ควบคุมโดยคอมมิวนิสท์ ซึ่งต่อมาภายหลังพ่ายแพ้แก่ทหารของนายพล Franco 

ในสหภาพโซเวียต นับจาก ค.ศ.1918 และในยุโรปช่วงระหว่างสงครามโลก พวกอนาธิปไตยจำนวนนับพันๆได้ถูกฆ่าตาย หรือไม่ก็ถูกส่งตัวเข้าคุกและค่ายกักกันนาซีต่างๆ ( Concentration camps )
คลื่นความรู้สึกสนใจของประชาชนในลัทธิอนาธิปไตย เกิดขึ้นช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1960s และ 1970s

ในสหราชอาณาจักร ( ประเทศอังกฤษ ) แนวความคิดแบบอนาธิปไตยได้ถูกนำไปโยงใยความสัมพันธ์กับแนวดนตรีแบบพั้งร็อคและวงดนตรี Crass ( แปลว่า หยาบ ไร้ความรู้สึก ไร้สติปัญญา ) ได้รับการยกย่องสรรเสริญสำหรับความเป็นอนาธิปไตย และไอเดียเกี่ยวกับการยึดถือหลักอหิงสา

ในประเทศเดนมาร์ก The Freetown Christiania ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นยังศูนย์กลางของเมือง Copenhagen วิกฤตเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการจ้างงานในยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ น้อมนำไปสู่การก่อตัวขึ้นมาของชุมชนหรือคอมมูน และขบวนการหักร้างถางพงเข้ายึดพื้นที่ ( Squatter movements ) คล้ายกับพวก ๆหนึ่งซึ่งยังคงรุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่ใน Barcelona, และใน Catalonia พวกต่อต้านสงครามที่มีต่อกลุ่มนีโอนาซีทั้งหลายในที่ต่าง ๆอย่างเยอรมันนี และการก่อจลาจลของ Autonomous Marxism พวก Situationist และ กลุ่ม Autonomist ต่างๆในฝรั่งเศสและอิตาลี ได้ช่วยสร้างความนิยมของประชาชนขึ้นมา ในการต่อต้านกับพวกเผด็จการ และเผยแพร่ความคิดต่างๆที่ไม่ต้องการทุนนิยม


การเริ่มต้นในช่วงครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 20 นักอนาธิปไตย Primitivists อย่าง John Zerzan เริ่มประกาศถึงอารยธรรมว่า " ไม่เพียงเป็นเรื่องของรัฐเท่านั้น  รัฐต้องถูกโค่นล้มลง เพื่ออนาธิปไตยจะได้บรรลุผล " การปฏิเสธเกี่ยวกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ถือเป็นความโดดเด่นด้วยในทัศนะของบรรดานักอนาธิปไตยเขียว ( Green anarchists ) เป็นจำนวนมาก

 โลกทัศน์อันนี้ได้ไปสัมพันธ์กับความเจริญเติบโตของขบวนการต่อต้านบนท้องถนนในประเทศอังกฤษ พวก Earth First ! และพวก The Earth Liberation Front ในสหรัฐอเมริกา และปฏิบัติการต่างๆของ Theodore Kaczynski ( aka the " Unabomber " )

ตลอดคริสตร์ศตวรรษที่ 20 พวกอนาธิปไตยได้ถูกนำเข้าไปเกี่ยวพันอย่างกระตือรือร้นกับขบวนการแรงงาน, ขบวนการปกป้องสิทธิสัตว์ ( Animal rights ), ขบวนการนิเวศวิทยามูลฐาน ( radical ecological movement ), ขบวนการสิทธิสตรี และต่อมาภายหลังได้ไปเกี่ยวพันในการต่อสู้กับพวกลัทธิฟาสซิสม์


 อิทธิพลดังกล่าวทางด้านความคิดอนาธิปไตยเป็นไปอย่างค่อนข้างเด่นชัด อันนี้คล้ายกับปรัชญาอนาธิปไตยแบบจารีตทั้งหลายที่เน้นความเกี่ยวพันกับเรื่องต่างๆทางเศรษฐกิจ หรือการมาถึงลัทธิอนาธิปไตยจากข้อถกเถียงทางเศรษฐกิจ นับจากช่วงกลางทศวรรษ 1960s เป็นต้นมา บรรดานักอนาธิปไตยได้ถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการประท้วงของบรรดานักศึกษา, ขบวนการสันติภาพต่างๆ, ขบวนการหักล้างถางพงเข้ายึดพื้นที่, และขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ( Anti - globalization ) ในท่ามกลางกลุ่มและขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนอื่น ๆ



3. ลัทธิอนาธิปไตยในปัจจุบัน ( Anarchism today )

ลัทธิอนาธิปไตยในอเมริกาเหนือค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างเข้มแข็ง จากขบวนการสิทธิพลเมืองอเมริกัน และขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม ส่วนลัทธิอนาธิปไตยของชาวยุโรปได้พัฒนาหลุดออกมาจากขบวนการแรงงาน และรวมทั้ง " กลุ่มปกป้องสิทธิสัตว์ " และ " กลุ่มกิจกรรมสิ่งแวดล้อม " ซึ่งได้ผนึกกำลังกันจากวิธีปฏิบัติการโดยตรง ซึ่งก่อให้เกิดความเจริญเติบโตต่อขบวนการต่อต้านบนท้องถนน และ Reclaim the Streets ทั่วทั้งโลก

 ลัทธิอนาธิปไตยได้ถูกนำเข้าไปเกี่ยวพันกับการต่อต้านสงคราม การต่อต้านทุนนิยม และขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ด้วย 

นับจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s บรรดานักอนาธิปไตยได้ถูกรู้จักสำหรับการเกี่ยวข้องของพวกเขาในการประท้วงต่าง ๆต่อองค์กรการค้าโลกหรือ W.T.O ( World Trade Organization ) และการประชุมของกลุ่มประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ 8 ชาติหรือ G 8 ( Group of Eight ) รวมถึงการประชุมเศรษฐกิจโลก ( World Economic Forum ) การประท้วงดังกล่าว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนักอนาธิปไตยมักถูกพรรณาหรือวาดภาพโดยสื่อกระแสหลักทั้งหลายในฐานะที่เป็นการก่อจลาจลอย่างรุนแรงและเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหลายที่เกิดขึ้นในการประท้วงต่าง ๆ

นักอนาธิปไตยบางคนให้การสนับสนุนส่งเสริมการก่อตัวขึ้นมาของกลุ่ม Black blocs ในการประท้วงต่าง  ๆซึ่งผู้มีส่วนร่วมทั้งหลายที่อยู่ในกลุ่มนี้ต่างสวมใส่ชุดพรางตัวสีดำ และคลุมหน้าของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการชี้ตัวของตำรวจ และได้สร้างมวลชนขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อน 



Black block

กลุ่มในชุดดำนี้ทำหน้าที่เผชิญหน้ากับตำรวจ จัดการกับเครื่องกั้นหรือสิ่งกีดขวางต่าง ๆและบางครั้งทำหน้าที่ในการทำลายทรัพย์สินของบริษัทต่าง ๆด้วย ถึงแม้ว่าบรรดานักอนาธิปไตย บ่อยครั้งมักจะเป็นจุดสนใจของบรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายในการประท้วงครั้งใหญ่ ๆแต่การประท้วงส่วนมาก หลายต่อหลายครั้งได้รับการสร้างและจัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรโดยผ่านโครงสร้างที่ไม่มีลำดับชั้น

กลุ่มต่าง ๆและคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ( Spokescouncils ) และเครือข่าย ทั้งหมดได้น้อมนำไปสู่ความสำเร็จของการต่อต้านสงครามขนาดใหญ่ และการระดมพลเพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์ ดังที่ปรากฏเด่นชัดที่สุดในการประท้วงการประชุมองค์กรการค้าโลก ( WTO ) ในปี ค.ศ.1999 ที่ Seattle 

นอกจากนี้ บรรดานักอนาธิปไตยยังถูกนำไปเกี่ยวพันอย่างมากกับขบวนการใต้ดินโดยตรงด้วย อย่างเช่น The Animal Liberation Front และ The Earth Liberation Front ซึ่งแนวหน้าเหล่านี้ได้รับการมองว่าเป็นพวกก่อการร้ายทางนิเวศวิทยา หรือ Eco - Terrorist โดยองค์กรเสรีภาพต่าง ๆและสมาพันธ์พันธมิตรทั้งหลาย

 ลัทธิอนาธิปไตย ( หรืออย่างน้อยที่สุด ระบบต่าง ๆที่ไม่มีลำดับชั้นของการจัดองค์กร ) ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ถูกพิจารณาว่า มีการแกว่งไกวไหวเอนไปมาอย่างเดียวกันกับขบวนการปฏิวัติสมัยใหม่ ดังที่ลัทธิมาร์กซิสม์เป็นเช่นนั้นในช่วงทศวรรษที่ 1960s แต่อย่างไรก็ตาม ลัทธิอนาธิปไตยไม่ได้ถูกขังหรือจำกัดให้ต้องไปเกี่ยวพันแต่เฉพาะการประท้วงในทางการเมืองเท่านั้น

 บรรดานักอนาธิปไตยเป็นจำนวนมากทำงานร่วมกันกับคนกลุ่มอื่น ๆเพื่อสร้างสรรค์โครงสร้างและองค์กรคู่ขนานต่าง ๆอย่างเช่น คอมมูน, หมู่บ้านนิเวศวิทยา ( Eco-villages ), สำนักงานข้อมูล ( Infoshops ), และศูนย์กลางสังคมรากฐาน ( Radical social centers ), องค์การอาหารไม่เอาระเบิด ( Food Not Bombs ), สหภาพแรงงานรากฐาน, การศึกษาแนวใหม่, สื่อที่ทำด้วยตัวท่านเองในหลาย ๆรูปแบบ ( Do it yourself หรือ D.I.Y ) กลุ่มเหล่านี้เน้นการทำงานแบบเสมอภาค และมีการจัดองค์กรแบบแนวนอน ( หมายถึงไม่มีลำดับชั้นสูงต่ำ )

 ในขบวนการ มีการใช้เครื่องไม้เครื่องมืออย่าง เช่น ฉันทามติที่ได้มาจากการร่วมกันตัดสินใจ อันนี้อยู่บนบรรทัดฐานที่ว่า บรรดานักอนาธิปไตยตีความไอเดียเกี่ยวกับทวิอำนาจ ( Dual power ) กันอย่างไร

 การสร้างสรรค์สังคมที่ต่อต้านอำนาจเบ็ดเสร็จในกระดองเก่า ( สังคมเก่า ) 
หรือระบบอำนาจแบบมีลำดับชั้นสูงต่ำ บางคนกล่าวว่า พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีเมื่อเร็ว ๆนี้ได้ทำให้แนวทางอนาธิปไตยง่ายที่จะเจริญก้าวหน้า และมีความเป็นไปได้มากขึ้นสำหรับผู้คน วิทยาการเข้ารหัสหรือที่เรียกว่า Public key cryptography และ Internet ทำให้เงินดิจิตอลที่ไม่ระบุอะไร อย่างเช่น E - gold เป็นทางเลือกของเงินตรา ผู้คนเป็นจำนวนมากใช้ Cell phones ( หรือโทรศัพท์มือถือ ) หรืออินเตอร์เน็ตเพื่อสร้างชุมชนหลวม ๆของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าถูกทำให้เป็นองค์กรตามบรรทัดฐานต่าง ๆของนักอนาธิปไตย 

ชุมชนเหล่านี้บางชุมชนมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายการผลิตข้อมูลของพวกเขา ในลักษณะไม่ได้ทำให้เป็นสินค้าหรือรูปแบบของประโยชน์มูลค่า เป้าหมายอันหนึ่งก็คือ ทำให้สัมฤทธิผลโดยมีความเป็นไปได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว การตีพิมพ์สื่อผ่านทางเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ และสื่อดิจิตอลต่าง ๆ 

สิ่งเหล่านี้ ทำให้มีความเป็นไปได้สำหรับปัจเจกชนทั้งหลาย ที่จะมีส่วนร่วมกันในการแบ่งปันเกี่ยวกับไฟล์ทางด้านอื่น ๆบนระบบอินเตอร์เน็ต 

ยังมีชุมชนโปรแกรม Open source ที่ให้ผู้คนเข้าถึงได้อย่างอิสระด้วยซึ่งคนเหล่านี้ได้เสียสละเวลาของพวกเขา และเสนอผลผลิตของพวกตนให้ฟรีด้วยโดยไม่คิดมูลค่าใด ๆยกตัวอย่างเช่น Usenet, The free software movement ( รวมทั้ง The GNU/Linux community และ The wiki paradigm ) และ Indymedia ชุมชนเหล่านี้ต่างมีส่วนร่วมในอุดมการณ์เกี่ยวกับอนาธิปไตย ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ และทุนนิยมโลก จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม



Direct-action : การท้าทายซึ่งหน้า ( Direct - action )



Direct Action

คำ ๆ นี้น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวความคิดของโจเซฟ - ปิแอร์ พรูดอง ซึ่งเป็นนักคิดคนสำคัญของฝ่ายอนาธิปไตย พรูดองเห็นว่าการดำเนินการทางการเมือง ไม่ควรผ่านช่องทางของรัฐและสถาบันที่มีอยู่เดิม เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับอำนาจของมัน

เดิมที " การท้าทายซึ่งหน้า " มักเชื่อมโยงเข้ากับการใช้ความรุนแรง เช่น การก่อจลาจล
 แต่ในภายหลัง คำ ๆ นี้ถูกหลาย ๆ ฝ่ายหยิบยืมมาใช้จนแพร่หลายทั่วไป แม้แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรงก็ใช้คำนี้เช่นกัน

โดยมันมีความหมายถึงการต่อต้านขัดขืนที่ไม่อาศัยช่องทางและกระบวนการที่อิงกับอำนาจรัฐ เช่น ไม่ใช้วิธีล้อบบี้ตัวแทนในรัฐสภา แต่ใช้การชุมนุมประท้วง การนัดหยุดงาน การไม่ยอมจ่ายภาษี ฯลฯ นอกจากไม่ให้ความร่วมมือกับอำนาจรัฐและสถาบันเดิมแล้ว ยังพยายามแก้ไขปัญหาโดยตรง โดยไม่สนใจกฎหมายหรือข้อบังคับที่รัฐวางไว้ เช่น การเข้ายึดอาคารร้างเพื่อนำมาเป็นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน เป็นต้น

Anarcho - syndicalism : อนาธิปไตยสหการนิยม ( Anarcho - syndicalism )

ขบวนการอนาธิปไตยที่สนับสนุนให้ชนชั้นแรงงาน ใช้ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าเพื่อล้มล้างระบอบทุนนิยม รวมทั้งรัฐ และก่อตั้งระบบสังคมใหม่ที่ให้คนงานรวมตัวจัดตั้งในหน่วยการผลิตของตนโดยอิสระ นักคิดในปัจจุบันที่สนับสนุนอนาธิปไตยสหการนิยมอย่างเปิดเผย มีอาทิเช่น นอม ชอมสกี เป็นต้น

อนาธิปไตย : การเมืองแบบไร้รัฐ
สมเกิยรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงมาจากเรื่อง
 Anarchism
 From Wikipedia, the free encyclopedia
 The neutrality and factual accuracy of this article are disputed

  ( ความเป็นกลางและความถูกต้องของข้อเท็จจริงสำหรับบทความชิ้นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ )

อรรถาธิบาย

(1) ปรัชญาสโตอิค, ( Stoicism ) มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จุดหมายของชีวิตนี้คือความสุข ความสุขที่แท้อยู่ที่ความสงบใจ จะมีความสุขได้ก็ต้องมีความพอใจกับสิ่งที่จำเป็นในชีวิตเท่านั้น นอกนั้นแล้วให้วางใจอยู่ในอุเบกขา อิสรภาพที่แท้คือการหลุดพ้นจากการบีบคั้นของโลกภายนอก

(2) The Anabaptists - Belief in: the primacy of the Bible; baptism of believers not infants; complete separation of church and state

(3) The Diggers - a member of a group of radical dissenters formed as an offshoot of the Levellers, believing in a form of agrarian communism.

(4) The Ranters - someone who rants and raves; speaks in a violent or loud manner 




****************************************************************

Reference : อ้างอิง


http://www.yimwhan.com/board/board.php?user=soundofstreet
-  
http://www.Midnightuniv.org
- Google