4.10.2555

พฤษภาคม พ.ศ.2535 พฤษภาทมิฬ : May 1992 Black May



พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ พฤษภาทมิฬ 


 May 1992 Black May

( For English you can read : http://en.wikipedia.org/wiki/Black_May_(1992) 
For real footage video in the end of column )




พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕

ประเทศไทย


ความนำ

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้นนับเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองและเป็นจุดด่างดำของประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยจุดที่ ๓ ต่อจากเหตุการณ์วันมหาวิปโยค เมื่อ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ และการสังหารโหดเมื่อ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙

ทั้งสามเหตุการณ์นี้ได้สะท้อนถึงการเสียดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และยังบ่งบอกถึงความไม่สามารถปรับตัวของสังคมทางด้านต่าง ๆในทุกระดับชั้นให้เข้าสู่ดุลยภาพอย่างแท้จริง

พฤษภาทมิฬสะท้อนถึงความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มทหารและกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้ในสถาบันการเมือง เนื่องจากการทำงานไม่ได้ผลของกลไก และในความเป็นจริง ความขัดแย้งในอำนาจทางการเมืองของทั้งสองกลุ่มได้ส่อให้เห็นเค้ามาแล้ว ตั้งแต่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

รัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๔

สภาวะของธุรกิจการเมืองธนาธิปไตย ได้นำไปสู่ข่าวลือเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จนทำให้เกิดความหวั่นวิตกกันทั่วไปว่า จะนำ
ประเทศไปสู่ความหายนะเพราะพันธะผูกพันที่ทำกับบรรษัทต่างชาติในโครงการใหญ่ ๆ ต่าง ๆ



ขณะเดียวกันความอหังการของนักการเมืองโดยเฉพาะรัฐมนตรีบางท่านที่ออกมาปะทะคารมกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดคือ การปรับเปลี่ยนตำแหน่งในกองทัพบก ซึ่งมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง 


โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากราชการและเข้าร่วมกับรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
โดยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะที่พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งทุกอย่างก็เข้าแนวทาง กล่าวคือ ทางฝ่าย จปร. รุ่น ๕ ได้คุมกำลังและดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก ขณะเดียวกันก็มีอดีตผู้บังคับบัญชาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม

แต่เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่พัฒนาต่อมาคือ การที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ไปปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ได้ออกมาตอบโต้จนผลสุดท้ายพลเอกชวลิตได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง ทำให้เกิดช่องว่างทางอำนาจขึ้น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ควบตำแหน่งรับมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย


และต่อมาได้เชิญหัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก มาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างนายทหารแห่งกองทัพบก จปร. รุ่น ๕ และรัฐบาลตึงเครียดขึ้น การพบปะรับประทานอาหารเช้าในวันพุธเป็นประจำระหว่างนายทหารและนายกรัฐมนตรีเริ่มขาดตอน สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดยิ่งขึ้น

ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐคือ การที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจแต่งตั้งพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงกลาโหม โดยอ้างว่าเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของตน ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ พลเอกชาติชาย และพลเอกอาทิตย์ มีกำหนดการเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เชียงใหม่ แต่ก็กลายเป็นกับดักตกอับที่สนามบินกองทัพอากาศ 


โดยเป็นการปฏิวัติของคณะปฏิวัติที่เรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยมี พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะ รสช. พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองหัวหน้าคณะฯ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าคณะฯ และมี พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นเลขานุการ

เหตุผลของการปฏิวัติมี ๕ ข้อ คือ

๑.มีการทุจริตคอรัปชันในบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

๒.ข้าราชการการเมืองรังแกข้าราชการประจำ

๓.รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา

๔.มีการพยายามทำลายสถาบันทหาร

๕.บิดเบือนคดีวันลอบสังหารซึ่งมีจุดมุ่งหมายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยาชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ๒๐ คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ผู้มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยมีอดีตรัฐมนตรีถูกประกาศชื่อเป็นผู้อยู่ในข่ายสงสัย ในขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหว ในการตั้งพรรคการเมืองโดยสมาชิกบางคนของ รสช.

ที่เห็นเด่นชัด คือ พรรคสามัคคีธรรม และยังมีความพยายามที่จะเข้าคุมพรรคการเมืองที่มีอยู่โดยส่งคนสนิทเข้าคุมตำแหน่งบริหารพรรค เช่นกรณีของพรรคชาติไทยและพรรคกิจสังคม เป็นต้น
แต่ที่เป็นประเด็นสำคัญคือ ความอิสระของรัฐบาลอานันท์ ปันยาชุน ซึ่งไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติทหารและบริหารบ้านเมืองด้วยความสะอาด บริสุทธิ์
ตามหลักวิชาการ จนเกิดความรู้สึกว่ามีความขัดแย้งกันขึ้นระหว่าง รสช. และรัฐบาล 

นอกจากเหนือจากนั้นประเด็นการแปรญัตติรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมการ ชุดแรก ๒๐ คน โดยคณะกรรมการสามัญ ๒๕ คน ได้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหนัก โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลที่เปิดทางให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งข้าราชการเมืองได้ อำนาจของวุฒิสมาชิก
การแก้ไขรัฐธรรมนูญและตัวนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ ตำแหน่งประธานรัฐสภา เขตการเลือกตั้ง คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ และผู้ตรวจการรัฐสภา

การประท้วงรัฐธรรมนูญที่ขาดความเป็นประชาธิปไตยได้นำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมือง จนต้องมีการห้ามทัพกัน เหตุการณ์สำคัญคือ พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ผลสุดท้ายรัฐธรรมนูญก็ผ่านสภาทั้งสามวาระโดยมีข้อขัดแย้งที่จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต คือ


๑. ตัวนายกรัฐมนตรีจะมาจาก ส.ส. หรือคนนอก ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้

๒. อำนาจวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจในการร่วมอภิปรายและลงมติในการไม่ไว้วางใจรัฐบาล และพระราชกำหนด

๓. ประธานรัฐสภามาจากประธานวุฒิสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๒๑ ได้มีการแก้ไขให้ประชาชนรัฐสภามาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร์

๔.เขตการเลือกตั้งได้เปลี่ยนเป็นเขตละ ๓ คน เหมือนรัฐธรรมนูญปี ๒๕๒๑


แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ คุณสมบัติของตัวนายกรัฐมนตรีและอำนาจวุฒิสมาชิก นอกจากนั้นยังมีประเด็นปัญหาที่หลงลืมคือ ในบทเฉพาะกาลให้ประธาน รสช. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งในวันที่ ๒๒ มี.ค. ๒๕๓๕ จึงเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย พรรคการเมืองแต่ละพรรคใช้เงิน “ ซื้อเสียง อย่างเปิดเผยและเป็นจำนวนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมา รายงานลับของหน่วยงานผู้ดูแลการเลือกตั้งหน่วยหนึ่งระบุว่า “ ทานตะวัน หมดเงินไปไม่น้อยกว่า ๑,๖๐๐ ล้านบาท ในขณะที่ “ ดอกบัว ” หมดไปประมาณ ๙๐๐ ล้านบาท เป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่าโครงการ ” สี่ทหารเสือ ประสบผลสำเร็จเพียงใด

ผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้จำนวนผู้แทนมากเป็นอันดับ ๑ คือพรรคสามัคคีธรรม ( ๗๙ คน  ), ตามด้วยชาติไทย ( ๗๔ คน ), ความหวังใหม่ ( ๗๒ คน ), ประชาธิปัตย์ ( ๔๔ คน ), พลังธรรม ( ๔๑ คน ), กิจสังคม ( ๓๑ คน ), ประชากรไทย ( ๗ คน ), เอกภาพ ( ๖ คน ), ราษฎร ( ๔ คน ), ปวงชนชาวไทย ( ๑ คน ), และพรรคมวลชน ( ๑ คน )


การดำเนินการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นไปอย่างรวดเร็ว นายณรงค์ วงศ์วรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคสามัคคีที่ได้เสียงมากที่สุดได้รับการเสนอชื่อพรรคสามมีคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร รวมจำนวนเสียงสนับสนุน ๑๙๕ เสียง ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๙ ของประเทศไทย

แต่ยังไม่ทันที่ พล.อ. สุนทรจะได้ทูลเกล้าฯ ชื่อนายรณรงค์ ก็มีการยืนยันจากนางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาว่า นายณรงค์เป็นผู้หนึ่งที่ “ ต้องห้าม ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯได้ เพราะมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด ชื่อของ พล.อ. สุจินดาจึงขึ้นมาแทนที่ในเวลาอันรวดเร็ว

ในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ซึ้งลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรับมนตรีคนที่ ๑๙ ของประเทศไทยนับจากนั้น ความขัดแย้งและความยุ่งยากก็ก่อตัวขึ้น จนนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในเวลาต่อมา


ลำดับเหตุการณ์

การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ในรัฐบาลผสมของพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร และ พรรคสามัคคีธรรม ( ปัจจุบันสองพรรคหลังเลิกไปแล้ว ) นับเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่พอใจและการคัดค้านของประชาชนพรรคฝ่ายค้านสี่พรรค ( พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรมพรรคเอกภาพ) และ กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศ
การคัดค้านครั้งนี้ยืนอยู่บนหลักการสำคัญสองประการ คือ

๑. คัดค้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ รสช.
เนื่องจาก พล.อ. สุจินดาเป็นผู้หนึ่งในคณะ รสช. ซึ่งทำการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ และเป็นที่ทราบกันดีกว่าเหตุผลแท้จริงของการรัฐประหารนั้นเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างทหารกับรัฐบาล มิใช่เรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาธิปไตยแต่อย่างใด การเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ. สุจินดา จึงเป็นการเข้าสืบทอดอำนาจเผด็จการของคณะ รสช. อย่างเห็นได้ชัด

๒. คัดค้านรับธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างกายใต้อำนาจของคณะ รสช. เป็นรับธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยหลายประการ ทั้งนี้เพื่อเปิดช่องทางสำหรับการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. เช่นนายกรับมนตรีคนนอก จำนวนวุฒิสมาชิกและอำนาจของวุฒิสภา ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลคัดค้านเรื่องความชอบธรรมของตัวบุคคลที่ร่วมรัฐบาลเช่น พล.อ. สุจินดา เป็นคนไม่รักษาคำพูดเนื่องจากเคยสัญญาว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรับมนตรี หากยังบริหารประเทศได้อย่างไร รับมนตรีหลายคนในคณะรัฐบาลเคยถูกคณะกรรมการตรวขสอบทรัพย์สินซึ่งาตั้งโดยคณะ รสช. สั่งยึดทรัพย์และประกาศว่าเป็นผู้ร่ำรวยผิดปรกติ ฯลฯ

ในขณะที่เสียงคัดค้านอันยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยดังขึ้นทุกขณะ พรรคร่วมรับบาล พล.อ. สุจินดากลับเฉยเมยต่อเสียงประชาชนโดยถือว่าเป็นการเล่นนิกสภาและได้พยายามปิกกั้นบิดเบือนข่าวสารทุกอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวคัดค้าน ของประชาชน รวมทั้งกล่าวหาผู้คัดค้านว่าเป็นผู้ขัดพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยลืมนึกไปว่าคณะ รสช. นั่นเองที่เป็นผู้ขัดพระบรมราชโองการและใช้กำลังทหารเล่นการเมืองนอกสภาโดยการล้มรัฐบาลชาติชายและล้มรัฐธรรมนูญอันถือเป็นหัวใจหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

การต่อสู้ของประชาชนผู้ยึดมั่นในหลักการและความถูกต้องของการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับกลุ่มผู้มีอำนาจทางทหาร ซึ่งยึดมั่นในอำนาจและกติกาที่ตนเองเป็นผู้ร่าง และกลุ่มนักการเมืองผู้ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง จึงเปิดฉากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำพูดและการกระทำของทุก ๆ คนในเหตุการณ์พฤษภาวิปโยค เป็นภาพสะท้อนอย่างแจ่มชัดถึงจุดยืนทางความคิดของคนคนนั้นว่า เขาเป็นผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หรืออำนาจเผด็จการ หรือยึดมั่นในผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องหรือเป็นคนที่ไม่มีหลักการใด ๆ เลย

๗ เมษายน ๒๕๓๕

สุจินดาเป็นนายกฯ ท่ามกลางกระแสคัดค้าน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรับมนตรีคนที่ ๑๙ ตามความคาดหมาย มีข้าราชการทหารและพลเรือนจำนวนหนึ่งไปมอบดอกไม้แสดงความยินดี พล.อ. สุจินดาให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งคณะรับมนตรีว่า ส.ส. ที่ถูกยึดทรัพย์สามารถเป็นรับมนตรีได้ เพราะประชาชนเลือกเข้ามา และศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าผิดส่วนพรรคการเมืองสี่พรรค คือ พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ที่หลายเป็นพรรคฝ่ายค้านได้ออกแถลงการณ์คัดค้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

องค์กรต่าง ๆ เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน เช่น การประชุมเพื่อคัดค้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ( สนนท.) หลังนั้นมีการวางหรีดอาลัยแก่ตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ. สุจินดา ที่สวนรื่นฤดี รวมทั้งมีการแสดงการคัดค้านของนักวิชาการหลายท่าน

๘ เมษายน ๒๕๓๕

ร.ต.ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วง
ชนวนแรกของการคัดค้าน เวลาตีหนึ่ง ร.ต. ฉลาด วรฉัตร อดีต ส.ส. เริ่มอดอาหารประท้วงให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ที่บริเวณหน้ารัฐสภา พร้อมป้ายสีดำข้อความว่า “ ข้าขอพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง 

สุจินดาหลั่งน้ำตา “ เสียสัตย์เพื่อชาติ พล.อ. สุจินดาหลั่งน้ำตากล่าวอำลาตำแหน่ง ผบ.สูงสุด และ ผบ.ทบ. ที่หอประชุมกองทัพบกบอกว่ามีความจำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติและขอให้ทหารคดิว่าตนเป็นพลเรือนแล้ว พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รักษาการ ผบ.ทบ. ได้กล่าวว่า ตนสนับสนุน พล.อ. สุจินดา ๒,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์

ในวันนี้ตั้งแต่เช้าจรดบ่าย มีประชาชนจากที่ต่าง ๆ ไปชุมนุมสนับสนุนนายกฯ คนใหม่ที่จังหวัดจัดรถไปรับและจ่ายเงินให้คนละ ๒๐ บาท
พล.อ.สนุทร คงสมพงษ์ ประธาน รสช. กล่าวว่า ทางห้าพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลขอให้ พล.อ. สุจินดาที่จะทำได้ ส่วนเรื่องนักการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์นั้น ตนคิดว่าไม่ควรนำมาเป็นรัฐมนตรีแต่ก็เป็นเรื่องของนายกฯ

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า ควรให้รัฐบาลทำงานก่อน ส.ส.ฝ่ายค้านได้ออกมาแสดงการคัดค้าน พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้นายอาทิตย์ชี้แจงบทบาทของตัวเองในการเลือกนายกรับมนตรี และพรรคฝ่ายค้านทั้งสี่พรรคแถลงว่าจะยึดหลักต่อสู้ต่อไปทั้งในและนอกสภา ทางฝ่าย ครป. และ สนนท. ได้มีจดหมายส่งถึง พล.อ. สุจินดา คัดค้านการเข้ารับตำแหน่งนายกฯ และขอร้องให้ลาออก มีการเสวนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนนักศึกษาไทยในสหรัฐฯประกาศจะวางหรีดดำประท้วง

๙ - ๑๕ เมษายน ๒๕๓๕

ใคร ๆ ก็ยกป้ายเชียร์


พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. และ ผบ.สูงสุด กล่าวว่ารัฐบาลจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย แต่ก็ไม่ยืนนับว่าไม่มีการปฏิวัติขณะที่ พล.อ. อิสระพงศ์กล่าวว่า นายกฯ เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศมีประชาชนออกมาสนับสนุนนายกฯ ทั่วประเทศมีประชาชนออกมาสนับสนุนนายกฯ คนใหม่มากมาย จน พล.อ. สุจินดาบอกว่า อยากให้ยกป้ายด่ามากกว่าป้ายเชียร์ รวมทั้งโต้การที่ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธหัวหน้าพรรคความหวังใหม่จะมอบตุ๊กตาทองให้ว่า ตนไม่เคยเล่นละคร นายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม บอกว่า นายกฯ เป็นผู้มีบารมีมาก จะอยู่ครบสี่ปี

ฉลาดอดอาหารต่อ

ร.ต. ฉลาดยังยืนยันที่จะอดอาหารต่อไปและปฎิเสธคำขอของพระภิกษุและประชาชนที่ขอให้เลิกอดอาหาร รวมทั้งไม่นำพาต่อการยั่วยุเช่นมีการส่งโลงศพมาให้พร้อมรับเป็นเจ้าภาพสวดศพ ในวันเดียวกันนี้ น.ส. จิตราวดี วรฉัตร ลูกสาวของ ร.ต. ฉลาด ประกาศสานต่อเจตนารมณ์ถ้าพ่อเป็นอะไรไป


ทางพรรคฝ่ายค้าน พล.ต. จำลอง ศรีเมืองหัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ. สุจินดา คัดค้านนายกฯ คนนอก และขอให้ พล.อ.สุจินดาถอนตัวจากตำแหน่งนายกฯ พรรคฝ่ายค้านทั้งสี่พรรคมีมติแต่งชุดดำไว้ทุกข์ และจัดปราศรัยเพื่อคัดค้านนายกฯคน นอก สำหรับการคัดค้านจากฝ่ายอื่น ๆ ยังมีอยู่ทั่วไป จากองค์ต่าง ๆ และนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศ

๑๖ – ๑๙ เมษายน ๒๕๓๕

คลอดรัฐบาลเป็ดง่อย

วันที่ ๑๗ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้ประกอบด้วยพรรคการเมืองห้าพรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และ พรรคราษฎร โดยมีรัฐมนตรีที่ถูกยึดทรัพย์รวมอยู่ด้วยถึงสามคนทั้งที่คณะ รสช.อ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วว่า สาเหตุหนึ่งก็เพื่อกำจัดรัฐมนตรีที่คอรัปชัน


พล.อ. สุจินดาให้เหตุผลที่มีรัฐมนตรีที่ถูกประกาศยึดทรัพย์ว่า ศาลยังไม่ตัดสินว่ามีความผิดอีกทั้งประชาชนเป็นคนเลือกเข้ามาและบอกว่าทำได้ดีที่สุดแค่นี้ ขณะที่ พล.อ. สนุทร ให้สัมภาษณ์ว่า มองคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้วเศร้าใจ

การคัดค้านนอกสภา

บริเวณหน้ารัฐสภาที่ ร.ต. ฉลาดอดอาหารประท้วงอยู่ มีการอภิปรายต่อต้าน พล.อ. สุจินดาและมีผู้ร่วมอดอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีการแสดงการคัดค้านจากประชาชนและองค์กรต่าง ๆ เช่นนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ
หลังการประชุมสภา ( วันที่ ๑๖ ) ฝ่ายค้านได้แถลงว่า จะเปิดการปราศรัยใหญ่ที่ลานพระบรมรูปฯ ในวันที่ ๒๐ เวลา ๑๗.๐๐ น. และจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสี่ข้อ คือ ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ให้ประธานรัฐสภามาจากประธานสภาผู้แทนฯ ตัดอำนาจวุฒิสมาชิกเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และแก้ไขสมัยการประชุม


นายสมัคร สนุทรเวช รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่พรรคฝ่ายค้านออกมาคัดค้านนั้นเพราะฝ่ายค้านอยากเป็นรัฐบาลบ้าง พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ รมว. กระทรวงมหาดไทย พูดว่าเสียงคัดค้านนอกสภาเป็นเสียงส่วนน้อย

๒๐ เมษายน ๒๕๓๕

นายกฯ บอกหลับสบาย ก่อนหน้าที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายที่ลานพระบรมรูปฯ ในเย็นวันนี้ พล.อ. สุจินดาให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อมีสภาแล้วไม่ควรเล่นนอกสภา และบอกว่าไม่ห่วงเรื่องการปราศรัยเลย ตนพร้อมจะรับคำตำหนิ คิดว่าประชาชนจะมาชุมนุมไม่ถึงแสนคน ไม่หนักใจม็อบต้าน และบอกว่า ผมไม่เครียดหลับสบายทุกคืนส่วน พล.อ.อ. เกษตรบอกว่าการชุมนุมเป็นการเล่นนอกเกม ถ้าเหตุการณ์บานปลายลุกลาม จะใช้มาตรการให้บ้านเมืองสงบ พล.อ. อิสระพงศ์ ก็กล่าว มีแผนจัดการกับผู้ร่วมชุมนุมแล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ
ประชาชนเรือนแสนร่วมคัดค้านนายกฯคนนอก

การปราศรัยเริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. เป็นการปราศรัยของตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ ประชาชนมาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นจนตำรวจต้องปิดการจราจรบริเวณลานพระบรมรูปฯ มีประชาชนเข้าฟังประมาณ ๑ แสนคน โดยแกนนำคือพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน และชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของนายกฯ คนปัจจุบัน หลังการปราศรัยของพรรคต่าง ๆ จบลง มีการจุดเทียนพร้อมกันโดยข่าวนี้ไม่ได้เผยแพร่ทางโทรทัศน์เลย ยกเว้นช่อง ๓ ที่ออกอากาศประมาณนาทีครึ่ง

๒๑ เมษายน - ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๕

ฉลาดเข้าไอซียู



 ร.ต. ฉลาดที่อดอาหารมาเกือบ ๒๐ วัน เริ่มมีอาการแย่ลง แต่ก็ยังอดอาหารต่อไปแม้จะได้รับการร้องขอให้เลิกจากสมเด็จพระสังฆราชในตอนสายของวันที่ ๒๙ ร.ต. ฉลาดช็อกหมดสติและถูกนำส่งโรงพยาบาล แพทย์บอกว่าต้องรักษาตัวอย่างน้อยเจ็ดวัน ต่อมา น.ส. จิตราวดีได้ประกาศอดอาหารต่อแทนบิดา
พล.อ.อ. อนันต์ให้สัมภาษณ์ว่า “ การอดอาหารเป็นอาชีพของ ร.ต. ฉลาด 

ฝ่ายค้านเดินหน้า รัฐบาลบอกเล่นนอกเกม ทางพรรคฝ่ายค้านนอกจากมีการออกไปอภิปรายตามจังหวัดต่าง ๆ แล้ว ยังได้ตกลงกับองค์กรเอกชนเพื่อจัดการชุมนุมใหญ่คัดค้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในวันที่ ๔ พฤษภาคมที่ท้องสนามหลวง นอกจากนี้ตัวแทนพรรคพลังธรรมยังเสนอให้นายกฯ ลงมาเลือกตั้ง โดย ส.ส. พลังธรรมยินดีลาออกเปิดทางให้
พล.อ. สุจินดาได้พูดว่า เมื่อมีสภาแล้วให้พูดกันในสภา ตนยอมรับการคัดค้านในสภาเท่านั้น พล.อ.อ. อนันต์คาดว่า กระแสคัดค้านนั้นสองสัปดาห์คงหมดไป และบอกว่านายกฯ ส่วนการประท้วงหากรุนแรงอาจจะต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน

๔ พฤษภาคม ๒๕๓๕

จำลองขออดข้าวตาย

วันนี้เป็นวันชุมนุมของประชาชนเพื่อคัดค้านนายกฯ คนนอกที่ท้องสนามหลวง
บรรยากาศเริ่มคึกคักตั้งแต่ช่วงเย็น กลุ่มมวลชนต่าง ๆ ผลัดกันขึ้นเวทีอภิปรายให้หัวข้อร่วมพลังประชาธิปไตย นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งมีประชาชนเข้าร่วมเกือบแสนคน ในช่วงท้ายเป็นการปราศรัยของนักการเมืองฝ่ายค้านข้อความเน้นความไม่ถูกต้อง ความไม่ชอบธรรมและการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. สุจินดา มีการกล่าวถึงคำพูดของนายกฯ เช่น “ เสียสัตย์เพื่อ
ชาติ 



การอภิปรายมุ่งไปที่ตัวนายกฯ โดยตรงและเรียกร้องให้ พล.อ. สุจินดาลาออก
พล.ต. จำลองขึ้นเวทีประกาศอดอาหารทุกชนิด บอกว่าจะตายภายในเจ็ดวัน หาก พล.อ. สุจินดาไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกฯ 
และได้ขอให้ประชาชนไปร่วมแสดงพลังคัดค้านนายกฯ และได้ขอประชาชนไปร่วมแสดงพลังคัดค้านนากฯคนนอกที่หน้ารัฐสภา ส่วน ร.ต. ฉลาดที่ออกจากห้องไอซียูแล้ว บอกว่าจะไปอดข้าวกับ พล.ต.จำลอง
พล.อ. สุจินดาให้สัมภาษณ์ว่าให้ ร.ต. ฉลาดทำไปจนกว่าจะหมดแรงไปเอง คงยุติเข้าสักวัน และยืนยันว่าไม่มีอะไรสร้างแรงกดดันได้ถ้าเรื่องนอกสภา

๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕

อดได้อดไป แต่ให้เล่นในสภา

พล.อ. สุจินดาตอบคำถามนักข่าว กรณี พล.ต. จำลองอดอาหาร โดยย้อนถามนักข่าวว่าควรจะให้ตนลาออกหรือปล่อยให้ พล.ต. จำลองตาย และบอกว่าตนจะไม่ให้ พล.ต. จำลองตาย และบอกว่าตนจะไม่ใช้ความรุนแรง การคัดค้านนอกสภาไม่เป็นผล ส่วนนายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีบอกว่า 
การอดอาหารเป็นการกระทำเกินขอบเขตและไม่ใช่ชาวพุทธที่ต้องเดินสายกลาง

ทางฝ่าย ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลก็ให้สัมภาษณ์ว่า เรามีสภาแล้วให้เล่นในสภา ด้าน พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ บอกว่าเป็นเรื่องของนักการเมืองที่อยากดัง ตนยังยืนสนับสนุน พล.อ. สุจินดาเป็นนายกฯ ในฝ่ายของทหาร พล.อ. อิสระพงศ์ บอกว่าเรื่องประกาศกฎอัยการศึกต้องดูสถานการณ์และฟังคำสั่งของ ผบ. สูงสุด ซึ่งกองทัพมีคำสั่งให้เตรียมพร้อมในที่ตั้ง
ฝ่ายค้านมีมติสนับสนุนกากรกระทำของ พล.ต. จำลอง และจะไม่เข้าร่วมฟังการแถลงนโยบายนายกฯ แต่จะเข้าไปทำหน้าที่อภิปรายในสภา

พระประจักษ์เข้าเยี่ยม บริเวณหน้ารัฐสภาในตอนเช้า ร.ต. ฉลาดได้กลับมาร่วมอดอาหารกับ พล.ต. จำลองพระประจักษ์ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมได้เขียนข้อความให้ พล.ต. จำลองว่า ไม่มีใครตายได้สองครั้งอาตมามีความรู้สึกเหมือนคุณโยม ไม่ต้องกลัวอะไรฉันยินดีตายด้วย
ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหมื่นคน จนต้องตั้งเวทีขึ้นในตอนค่ำและปิดการจราจรในถนนอู่ทองใน กระแสการคัดค้านได้เกิดขึ้นในต่างจังหวัดด้วย เช่น ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา เป็นต้น

๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕

นายกฯ เป็นไปในการอภิปราย 


 วันนี้เป็นวันแถลงนโยบายของรัฐบาลและมีการซักถามของส.ส. ในช่วงก่อนเปิดสภา พล.อ. สุจินดาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีเหตุการณ์อะไรและไม่มีอะไรกดดัน พล.อ.อ. อนันต์ แสดงความไม่เห็นด้วยในการอดอาหารประท้วง และว่ารัฐบาลเข้ามาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ควรใช้เวทีรัฐสภามากกว่า นายมีชัย ฤชุพันธ์ รองนายกฯ กล่าวว่า การที่ พล.อ. สุจินดาเป็นนายกฯ เพราะเรามีรัฐธรรมนูญอย่างนี้ แต่ก็เลิกได้โดยเป็นการเลิกในสภา ช่วงนี้ต้องทำตามกฎเกณฑ์ไปก่อน

ในช่วงการแถลงนโยบายของนายกฯ ส.ส.ฝ่ายค้านซึ่งมีมติไม่เข้าฟังได้ออกปราศรัยกับประชาชนกว่า ๓ หมื่นคนที่ชุมนุมอยู่หน้ารัฐสภาเสร็จแล้วจึงกลับเข้าอภิปรายโจมตีนโยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายที่บอกว่าจะรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจพูดถึงรัฐมนตรีถูกยึดทรัพย์ และสุดท้ายการรักษาสัจจะ โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ มีอาการกระสับกระส่ายตลอดเวลา

คัดค้าน ถวายฎีกา สุจินดาต้องลาออก

นักวิชาการ ๑๕ สถาบันการศึกษาเตรียมยื่นจดหมายถึง พล.อ. สุจินดา เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แต่ถูกขัดขวาง มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำหนังสือกราบบังคมทูลถวายความเห็นว่าทางออกประการหนึ่งคือ การพระราชทานคำแนะนำให้นายกฯ ยุบสภา
การชุมนุมที่หน้ารัฐสภายังดำเนินต่อไป มีประกาศจาก พล.ต. จำลองว่ามีความลำบากในการอดอาหารและคงอยู่ไม่ครบเจ็ดวัน

ทางด้านพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อลดแรงกดดัน ส.ส. พรรคชาติไทยคิดว่าจะให้ยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญสองประเด็นในวันพรุ่งนี้ คือ นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง และประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานรัฐสภา โดยให้มีบทเฉพาะกาลหนึ่งปี พรรคกิจสังคม ก็ได้ยอมรับหลักการของฝ่ายค้าน แต่ต้องหากับทางพรรคก่อน

๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕

นายกฯ กับเหตุผลการรับตำแหน่ง
การแถลงนโยบายในวันที่ ๒ จบลงด้วยความวุ่นวาย เมื่อนายกฯ พูดถึงเหตุผลที่เข้ารับตำแหน่งว่า เพราะ
หนึ่ง รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้
สอง กล่าวพาดพิงถึง พล.อ. ชวลิต ว่าเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยแบบสภาเปรซิเดียมและ กลุ่มที่เคลื่อนไหวนอกสภาก็เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การปกครองแบบนี้
สาม ได้รับการขอร้องจากชาวพุทธที่กำลังถูกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งก่อตั้งศาสนาใหม่

สี่ การที่นายกรัฐมนตรีเป็นคนกลางจะทำให้ควบคุมการคอรัปชันทำได้ดีที่สุด

ในขณะที่นายกฯ ชี้แจงอยู่นั้นได้มีเสียงตะโกนและเสียงโห่แสดงความไม่พอใจของ ส.ส. ฝ่ายค้านตลอดเวลา หลังจากชี้แจงแล้ว ประธานรัฐสภาได้กล่าวปิดการประชุมทันที
เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพข่าวทางโทรทัศน์ช่อง ๕ เสียงที่ได้ยินหลังคำแถลงของนายกฯกลายเป็นเสียงปรบมือ

ประกาศเตือนให้ยุติการชุมนุม

ที่หน้ารัฐสภาภายหลังปิดสภาแล้ว ประชาชนมาร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้น แต่ถูกฝ่ายตำรวจกั้นไว้ภายนอก จนเมื่อ ส.ส. คนหนึ่งขับรถชนแผงกั้นที่ด้านลานพระบรมรูปฯ ประชาชนจึงสมารถเข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาได้


หลังปิดสภาได้มีการประชุมกันของฝ่ายทหาร ประกอบด้วย พล.อ. สุจินดา พล.อ.อ.เกษตร พล.อ. อิสระพงศ์ พล.ท. ชัยณรงค์ พล.อ.อ. อนันต์ สรุปว่าจะใช้มาตรการสามมาตรการ ถ้าผู้ชุมนุมไม่สลายตัว คือ 

๑ . ออกประกาศเตือน 
๒. ประกาศกฎอัยการศึก 
๓. ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด โดยมั่นใจว่าจะสลายม็อบได้ภายในสามวัน

เวลา ๑๕.๐๐ น.
มีประกาศของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ฉบับที่ ๑ เรียกร้องให้ยุติการชุมนุม

เวลา ๑๗.๐๐ น.
ก็มีประกาศกองกำลังรักษาพระนคร ฉบับที่ ๑ ( ผู้ประกาศคือ นายจักรพันธ์ ยมจินดา ซึ่งหลังจากนั้นได้ลาพักร้อนและลาออกจากหน้าที่ในเวลาต่อมา) 


ว่าจะจัดการกับผู้ชุมนุม แทนที่จะได้ผล กลับเป็นการท้าทายให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมมาขึ้น ๆ จนล้นออกมาถึงบริเวณลานพระบรมรูปฯ
เคลื่อนม็อบไปสนามหลวง

ในเย็นวันนั้น พล.อ.อ. เกษตรให้สัมภาษณ์ว่า การสลายม็อบจะทำอย่างนิ่มนวล ถ้าไม่เชื่อฟังก็มีหลายมาตรการจัดการ แต่รับรองจะไม่ใช้วิธีรุนแรง ส่วน พล.อ. อิสระพงศ์ กล่าวว่า จะใช้มาตรการนุ่มนวล และจะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว
ในตอนค่ำ ครป. สนนท. และ พล.ต. จำลอง ได้นำผู้ชุมนุมนับแสนคนจากหน้ารัฐสภาไปยังสนามหลวงอย่างเป็นระเบียบ ท่ามกลางเสียงเชียร์จากประชาชนโดยรอบ และเสียงตะโกนว่า
“ สุจินดาออกไป ๆ ๆ ๆ คาดว่าการที่แกนนำการชุมนุมเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปท้องสนามหลวง เพราะมีข่าวว่าจะมีการสลายม็อบตอนเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งบริเวณหน้ารัฐสภาถูกปิดล้อมได้ง่าย ไม่เหมาะแก่การชุมนุม

๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕

สุยังไม่ออก

พล.อ. สุจินดาให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่าตนสามารถทนการถูกอภิปรายในสภาได้ ที่พูดในสภาเรื่องเหตุผลการเป็นนายกฯ เป็นการชี้แจงส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก้อเป็นเรื่องของสภาซึ่งตนกระทำตามมติ ของสภาเท่านั้น ตนไม่ยึดติดกับอำนาจ และพร้อมที่จะลาออกถ้าเป็นไปตามกระบวนการ และว่าจะไม่ใช้มาตรการรุนแรงอย่างเด็ดขาด

พล.อ.อ. อนันต์กล่าวว่า มีมาตรการแก้ไขปัญหาการชุมนุมอยู่แล้ว และว่า พล.ตง จำลองเป็น ส.ส. ทำไมไม่ไปทำหน้าที่ในสภา ส่วนเรื่องอดข้าวนั้นตนไม่เห็นตายสักที
รัฐบาลพยายามลดพลังการชุมนุม

ฝ่ายรัฐบาลใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ออกข่าวแก่ประชาชนว่า การเข้าชุมนุมอาจได้รับอันตรายทั้งยังแพร่ภาพตัวแทนชาวพุทธเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจ พล.อ. สุจินดา
พล.อ.อ. อนันต์ได้เชิญตัวแทนหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับเข้าพบ และขอร้องให้เสนอข่าวตามจริงเพื่อประโยชน์ของชาติ กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งห้ามพนักงานรัฐวิสาหกิจไปชุมนุมที่สนามหลวง ผู้ใดไปถือว่ามีความผิดทางวินัย

นายมนตรีกล่าวว่าห้าพรรครัฐบาลมีมติที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ แต่ต้องคุยกับฝ่ายค้านก่อน ส่วนนายอาทิตย์ขบอกว่าจะมีการประชุมร่วมแก้พรรคการเมืองได้ในวันที่ ๑๑ เพื่อหารือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังติดที่เงื่อนไข ของ พล.ต. จำลอง

เคลื่อนม็อบอีกรอบ

ที่ท้องสนามหลวง บรรยากาศเริ่มคึกคักตั้งแต่ตอนเช้า มีประชาชนทยอยเดินทางมามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินแสนคน ในตอนเย็นพล.ต. จำลอง ซึ่งอดอาหารมาเป็นวันที่ ๕ ก็ยอมรับในหลักการของประธานสภาผู้แทนฯ แต่มีเงื่อนไขที่ พล.อ. สุจินดาต้องมาแถลงเองว่าจะแก้ไขในหนึ่งเดือน ไม่มีบทเฉพาะกาล และต้องขอรับโทษถ้าไม่ทำตาม


ช่วงค่ำ พล.ต. จำลองตัดสินใจนำขบวนผู้ชุมนุมออกจากสนามหลวง เพราะจะมีการใช้ผู้ชุมนุมออกจากสนามหลวงประกอบพิธีสัปดาห์พุทธสาสนาและพระราชพิธีพืชมงคล
จึงได้นำขบวนประชาชนกลุ่มหนึ่งเดินมาตามถนนราชดำเนินและมาพบกับแนวรั้วลวดหนามของทางตำรวจที่กั้นไว้ที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง

เนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้มีแกนนำอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่ม ครป. และ สนนท. ซึ่งเข้ามามีบทบาทนำการชุมนุมในช่วงแรก กลุ่มที่สองคือ กลุ่มของ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเริ่มเข้ามีบทบาทนำการชุมนุมในช่วงหลังวันที่ ๗ พฤษภาคม ต่อมาทั้งสองกลุ่มได้ขัดแย้งกันในเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม โดยกลุ่ม พล.ต. จำลอง ต้องการย้ายผู้ชุมนุมจากสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนิน แต่ทาง ครป. และ สนนท. เห็นว่าไม่ควรเคลื่อนย้าย จนเป็นเหตุให้ที่ชุมนุมเกิดความสับสน เมื่อ
ประชาชนส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายตาม พล.ต. จำลองไป ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังคงปักหลักอยู่ที่ท้องสนามหลวง


รัฐบาลได้ฉกฉวยโอกาสนี้ขยายภาพความขัดแย้งดังกล่าว โดยออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ ว่า ครป. และ สนนท. ได้สลายการชุมนุมแล้วเหลือเพียง พล.ต. จำลอง กับ พล.อ. ชวลิตที่ยังนำการชุมนุมต่อที่สะพานผ่านฟ้า ฯ ต่อมาทาง สนนท. เห็นว่าควรให้การชุมนุมเป็นเอกภาพ จึงตัดสินใจเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากสนามหลวงไปรวมกันที่ถนนราชดำเนิน


รัฐบาลจึงออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๒ ว่า นายปริญญาได้ฝ่ายฝืนมติของ สนนท. และ กลับมาร่วมชุมนุมใหม่ หลังจากแถลงการณ์ฉบับนี้นายโคทม อารียา จึงประกาศว่า ครป. และ สนนท. ยังเข้าร่วมการชุมนุมเหมือนเดิม เพื่อให้รัฐบาลยุติการตอนกลิ่มลงบนความขัดแย้ง

๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕

จำลองเลิกอดอาหาร

กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าฯ ถูกกั้นด้วยลวดหนาม จนได้รับการขนานนามว่ากำแพงเบอร์ลิน ในตอนสายของเช้าวันนี้ พล.ต. จำลองได้ขอประชามติจากที่ชุมนุมว่าจะให้อดอาหารต่อหรือให้เลิกเพื่อที่จะสู้ต่อไป ผู้ชุมนุมมีมติเลือกข้อที่สอง
พล.ต. จำลอง จึงเลิกอดอาหารและประกาศลาออกหัวหน้าพรรคพลังธรรม เพื่อป้องกันข้อครหาว่าต่อสู้เพื่ออำนาจ พร้อมทั้งลดเงื่อนไขการเรียกร้องเหลือเพียงการแก้ไขรับธรรมนูญ และให้บทเฉพาะกาลไม่เกินหนึ่งเดือน

สถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยออกข่าวการประท้วงเลย ได้ออกข่าวการประกาศเลิกดอดอาหารของ พล.ต. จำลอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า การชุมนุมประท้วงตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีมากเป็นเรือนแสนในตอนเย็น และเริ่มน้อยลงในตอนเช้าของแต่ละวัน กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากขับรถยนต์มากันเอง และใช้โทรศัพท์มือถือ การชุมนุมครั้งนี้จึงได้รับการเรียนขานว่า ม็อบรถเก๋งและ ม็อบมือถือ

แถลงมติเก้าพรรคยินดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พรรคการเมือง นักวิชาการ อาจารย์พยายามหาทางออกด้วยการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตัวแทนพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมเก้าพรรคได้ประชุมกัน โดยความพยายามของนายอาทิตย์ และมีมติว่าเก้าพรรคเห็นชอบแก้รับธรรมนูญในสี่ประเด็น คือ ประธานสภาผู้เป็นแทนฯเป็นประธานรัฐสภา นายกฯ มาจากการเลือกตั้งลดอำนาจวุฒิสมาชิก และการการแบ่งเขตเลือกตั้งลดอำนาจวุฒิสมาชิก และการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยพรรคร่วมรัฐบาลขอเวลาไปขอมติพรรคและจะยื่นวาระให้ประธานรัฐสภาได้ทันในวันที่ ๑๕ พฤษภาคมนี้

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕

เคลียร์ม็อบรับเสด็จ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จพระราชดำเนินผ่านถนนราชดำเนินไปยังท้องสนามหลวงในวันนี้ ตอนสายประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมได้ร่วมกันทำความสะอาดถนนราชดำเนินมีการย้ายเต็นท์ไปข้าทาง และแจกธงชาติให้แก่ผู้ชุมนุมเพื่อเตรียมรับเสด็จแต่ปรากฏว่าได้มีการเปลี่ยนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัย ขณะที่สถานีวิทยุ จส. ๑๐๐ ออกข่าวว่าผู้ชุมนุมปิดกั้นเส้นทางเสด็จฯ

เลิกชุมนุมชั่วคราว ดูท่าทีพรรคการเมือง

แกนนำการชุมนุมได้ประชุมและแถลงแก่ผุ้ร่วมชุมนุมเรือนแสนว่าจะสลายการชุมนุมชั่วคราว เพื่อรอสัญญาของเก้าพรรคที่แก้ไขรับธรรมนูญ และ เพราะได้รับชัยชนะในระดับหนึ่งแล้ว โดยจะนัดชุมนุมกันใหม่ในวันที่ ๑๗ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทางรัฐสภา การชุมนุมได้ยุติลงเวลา ๐๔.๑๕ น. ของวันที่ ๑๑

๑๑ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕

ห้าพรรค หลอกอีกแล้ว


หลังจากการชุมนุมของประชาชนยุติลงห้าพรรครัฐบาลก็มีท่าทีเปลี่ยนไป นายมนตรีกล่าวว่าการประชุมวันที่ ๙ นั้นไม่ใช่มติพรรคต้องนำเข้าที่ประชุมพรรคก่อน นายบรรหาร ศิลปอาชา เลขาธิการพรรคชาติไทยได้กล่าวหาว่า นายอาทิตย์กระทำการโดยพลการ และบอกว่าที่ทำไปเพื่อลดแรงกดดัน จนนายอาทิตย์ต้องออกมาประกาศว่า ได้ทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดแล้ว และจะเกิดอะไรขึ้นเกินกว่าที่ตนจะผลักดันใด ๆ ได้

นอกจากนี้ทั้งห้าพรรค ยังมีท่าทีที่จะถ่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป โดยอ้างว่าต้องไปปรึกษากับ ส.ส. ในพรรคก่อน ไม่สามารถยื่นหนังสือขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันวันที่ ๑๕ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมบอกว่าต้องมีบทเฉพาะกาลสองปี นายมนตรีบอกว่าจะให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลหน้าส่วนนายสมัครบอกว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง
การพลิกลิ้นของพรรคฝ่ายรัฐบาลครั้งนี้คาดว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในวันที่ ๑๗ พฤษภาคมเป็นจำนวนมาก

ฉลาดขออดจนตาย ถ้าสุจินดาไม่ลาออก

แม้ว่าทาง พล.ต. จำลองจะประกาศเลิกอดอาหารแล้ว แต่ ร.ต. ฉลาดยังยืนยันที่จะอดอาหารประท้วงต่อไป เพราะไม่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จ โดยย้ายมาอยู่ที่หน้ารัฐสภาและประกาศว่า ถ้า พล.อ. สุจินดา ไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ภายในวันที่ ๒๕ จะขออดทั้งอาหารและน้ำจนกว่าจะตาย

จัดคอนเสิร์ตสกัดม็อบ

ได้มีความพยายามจะไม่ให้เกิดการชุมนุมของประชาชนวันที่ ๑๗ กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ผู้ว่า ทุกจังหวัดดูแลไม่ให้เกิดการชุมนุมคัดค้าน โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ มีการสั่งห้ามผู้ว่าฯ กทม. ไม่ให้สนับสนุนการชุมนุม เช่น ห้ามบริการสุขาเคลื่อนที่ ในตอนท้ายแม้ว่านายกฯ จะอนุญาต แต่ปรากฏว่าฝ่ายทหารได้นำรถไปใช้และยังไม่ได้นำส่งคืน กทม. นอกจากนี้ในวันที่ ๑๕ มีปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ คือมีประชาชนไปรวมกันที่หน้าศาลากลางของแต่ละจังหวัด พร้อมชูป้ายสนับสนุน พล.อ. สุจินดาเป็นนายกฯ เช่น “ แล้งไม่ว่า ให้สุจินดาเป็นนายกฯ 
ความพนายามอีกประการหนึ่งก็คือ การจัดคอนเสิร์ต “ รวมใจต้านภัยแล้ง ที่สนามกีฬากองทัพบก ซึ่งถูกจัดขึ้นอย่างฉุกละหุกในวันและเวลาเดียวกันกับการชุมนุมของประชาชนที่ท้องสนามหลวง

ประกาศตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย

หลังจากยุติการชุมนุมชั่วคราว บรรดาแกนนำได้นำประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาและสรุปบทเรียนที่ผ่านมาในวันที่ ๑๔ พ.ค. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพบว่าการชุมนุมในช่วงแรก ( ๔ - ๑๑ พ.ค. ) นั้นแกนนำขาดความเป็นเอกภาพมีความแตกต่างทางแนวคิดและไม่สามารถหาข้อยุติได้ด้วยขาดองค์กรนำ 



ที่ประชุมจึงลงมติจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตยขึ้น ประกอบด้วยกรรมการเจ็ดคน คือ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง, นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล, น.พ. เหวง โตจิราการ, น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และร.ต. ฉลาด วรฉัตร ( ภายหลังได้ถอนตัว และให้ น.ส. จิตราวดีเป็นแทน ) นอกจากนี้ยังได้ออกแถลงการณ์ ใบปลิว ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในเย็นวันที่ ๑๗ ด้วย

กิจกรรมในช่วงนี้ได้แก่ การเผาหุ่นสุจินดาในวันที่ ๑๒ การอภิปรายที่ธรรมศาสตร์วันที่ ๑๓ การแสดงของศิลปินที่สวนจตุจักรในวันที่ ๑๕ รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมวันวิสาขบูชาในวันที่ ๑๖ เป็นที่น่าสังเกตว่าเพลงของนักดนตรีที่เข้าร่วมในงานวันที่ ๑๕ ที่สวนจตุจักร ต่างถูกห้ามเปิดตามสถานีวิทยุของทหาร

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕

นายกฯ ไปน่าน

ช่วงเช้า

พล.อ สุจินดาเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดน่าน นายกฯ กล่าวว่า ตนพร้อมเดินทางกลับทันที หากเกิดเหตุรุนแรงในการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับเรื่อง พล.ต. จำลองเสนอทางออกว่านายกฯ ต้องลาออกนั้น พล.อ. สุจินดากล่าวว่า นั้นเป็นทางออกของ พล.ต. จำลอง ส่วนตนมีแต่ทางเข้าอย่างเดียว รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง ยกเว้นมีผู้ใช้ความรุนแรงขึ้นมา



จัดงาน กล่าวว่างานนี้ไม่ใช่ม็อบจัดตั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อรับเงินบริจาคช่วยภัยแล้ง แต่ที่ตรงกับการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก หากเห็นว่าการชุมนุมประท้วงที่สนามหลวงถูกต้องก็ไม่ต้องมาที่นี่

นายชินกล่าวว่าใช้งบประมาณการจัดงานประมาณ ๑ แสนบาทและคาดว่าจะได้ยอดเงินบริจาคประมาณ ๑๐ - ๒๐ ล้านบาท ซึ่งเมื่อถึงเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม ยอดเงิน
ที่กรุงเทพฯ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวปฏิเสธว่า การเลื่อนเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่การหักหลัง แต่ต้องการปรึกษากันภายในพรรคก่อน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย

นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขาธิการพรรคราษฎร ชี้แจงความเห็นของพรรคราษฎรต่อการแก้ไขว่ามีสองประเด็น คือ เรื่องของประธานรัฐสภาและการลดอำนาจวุฒิสมาชิก ส่วนประเด็นนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องสำคัญหากให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ทูลเกล้าฯ และไม่ควรปิดประตูรัฐธรรมนูญเพราะจะทำให้ประเทศล้มลุกคลุกคลาน

คอนเสิร์ตต้านภัยแล้ง 

ช่วงเย็น

มีการจัดคอนเสิร์ตต้านภัยแล้งที่สนามกีฬากองทัพบกและวงเวียนใหญ่ รถบัส รถยีเอ็มซี ของทหารและรถบัสทหาร นำชาวบ้านจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร ฯลฯ รวมประมาณ ๑ หมื่นคน มาร่วมชมคอนเสิร์ตที่สนามกีฬากองทัพบก นอกจากชาวบ้านจากต่างจังหวัดแล้ว กลุ่มลูกเสือชาวบ้านในกรุงเทพฯ ประมาณ ๖๐๐ คน ก็ได้เดินทางมาร่วมด้วย ผู้มาร่วมวานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลมาร่วมงานหลายคน

ชาวบ้านคนหนึ่งจากจังหวัดฉะเชิงเทราเผยว่าไม่ทราบว่ามางานอะไร เพียงแต่ผู้ใหญ่บ้านบอกให้มาช่วยม็อบ ในการเดินทางมาครั้งนี้มีผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
นายชิน ทับพลี ผู้นำแรงงานย่านสมุทรปราการประธานคณะกรรมการบริจาคมีประมาณ ๑๔๙,๐๐๐ บาท
ในบริเวณรอบสนามกีฬาฯ ได้จัดให้มีรถสุขาเคลื่อนที่ของ กทม. ประมาณเจ็ดคัน แต่ไม่มีคนใช้บริการเพราะในบริเวณอัฒจันทร์รอบสนามฟุตบอลมีสุขาให้ใช้อยู่แล้ว มีการแจกอาหารกล่อง ผลไม้และเครื่องดื่มเป๊ปซี่ตลอดงาน

ส่วนที่วงเวียนใหญ่ นักร้องค่ายนิธิทัศน์เปิดการแสดงบนเวทีในราวหกโมงเย็น มีผู้สนใจชมประมาณ ๓,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น มีสุขาเคลื่อนที่ของ กทม. จำนวนสามคันมาให้บริการ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ทำการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ โดยการอนุมัติของนายปิยะนัฐ วัชราภรณ์ รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ชุมนุมที่ท้องสนามหลวง

ช่วงเช้าถึงเที่ยง

เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ประชาธิปไตยได้มารวมตัวอยู่ที่บริเวณสนามหลวงเพื่อเตรียมการชุมนุมที่จะขึ้นในตอนเย็น เช่น เรื่องอาหาร โปสเตอร์ เต็นท์อำนวยการ รวมทั้งสุขาชั่วคราวโดยใช้ถังน้ำมันผ่าครึ่งเป็นโถ มีผ้าพลาสติกกั้นเป็นห้องไว้ ตั้งชื่อว่า " สุขาเพื่อผู้รักประชาธิปไตย "

ราวเที่ยง

มีประชาชนกว่า ๕,๐๐๐ คนทยอยมาที่สนามหลวงทั้ง ๆ ที่เวทียังไม่เริ่มตั้ง มีการขายเทปวีดีโอคำปราศรัยการชุมนุมเมื่อวันที่ ๖ - ๑๑ พ.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งเสื้อยืด สติ๊กเกอร์ต่อต้าน พล.อ.สุจินดา และเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งขายดีมาก

นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร และผู้อดอาหารประท้วงคนอื่น ๆ ได้ย้ายมาที่เต็นท์ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วน ร.ต. ฉลาด วรฉัตร ซึ่งยังคงปักหลักอดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ขอถอนตัวจากคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลว่าไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากร่างกายของตนอยู่ในสภาพที่อ่อนล้าการกระทำครั้งนี้ไม่ใช่ความแตกแยก แต่เพราะตนเหลือเวลาน้อยเต็มที่แล้ว

บ่ายโมง

เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ฯ เริ่มตั้งเวทีขึ้นโดยหันหน้าไปทางวัดพระแก้ว บนเวทีขึงผ้าสีขาวมีข้อความว่า " สมาพันธ์ประชาธิปไตย สุจินดาออกไปประชาธิปไตยคืนมา "
จากประชาชนประมาณ ๓ หมื่นคนในเวลาบ่างสามโมง ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๓ แสนคนเมื่อถึงเวลาทุ่มครึ่ง การจราจรโดยรอบสนามหลวงติดขัดเพราะมีผู้คนเดินทางมาทุกสารทิศ มีรายงานว่านายทหารตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ ๑,๐๐๐ คนได้ปะปนอยู่ในที่ชุมนุม

สมาพันธ์ประชาธิปไตยแจกธงกระดาษสีขาวมีข้อความว่า " ประชาธิปไตยต้องได้มาโดยสันติวิธี " และ " พร้อมใจยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย " แก่ประชาชน เพื่อใช้โบกระหว่างฟังการปราศรัย
แอ๊ด คาราบาว ขึ้นร้องเพลงบนเวที ตัวแทนสมาพันธ์ประชาธิปไตยทยอยขึ้นปราศรัย บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการตะโกนคำขวัญขับไล่ พล.อ. สุจินดาตลอดเวลา ธงสีขาวสะบัดพรึบทั่วท้องสนามหลวงเมื่อคำพูดถึงใจ

สองทุ่มเศษ

พล.ต. จำลองตั้งเวทีปราศรัยย่อยขึ้นอีกแห่งหนึ่งเพื่อตรึงคนไว้ เนื่องจากเสียงจากเวทีใหญ่ได้ยินไม่ทั่วถึง จนถึงขณะนี้คาดว่ามีประชาชนกว่า ๓ แสนคนแล้ว



นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง รองประธานกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งมีองค์กรในสังกัดกว่า ๒๐๐ องค์กร มีสมาชิกราว ๓ หมื่นคน กล่าวปราศรัยต่อที่ชุมนุมว่า หากเกิดเหตุแรงจากการปราบปรามของรัฐบาล พนักงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของตนพร้อมจะหยุดงาน

นายวีระ มุสิกพงศ์ พรรคความหวังใหม่ ขึ้นปราศรัยกล่าวเสียดสีถึงการที่รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้นำสุขาเคลื่อนที่มาบริการ ว่านอกจากจะปิดกั้นข่าวสารปิดหูปิดตาประชาชนแล้ว ยังปิดกั้นประชาชนด้วย
หนังสือพิมพ์ประมาณว่ามีผู้ร่วมชุมนุมเกือบ ๕ แสนคน นับเป็นการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ของพลังประชาธิปไตย ทว่าไม่มีสถานีโทรศัพท์ช่องใดรายงานข่าวการชุมนุนนี้
เคลื่อนขบวนสู่ทำเนียบ

พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจเปิดเผยว่าได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ประมาณ ๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ โดยประสานกับกองกำลังรักษาพระนครตลอดเวลา
ผู้บัญชาการกองกำกับรักษาพระนคร ได้สั่งการให้หน่วยขึ้นตรง ( นขต. ) กองกำลังรักษาพระนคร ปฏิบัติการตามแผนไพรีพินาศ / ๓๓ ขั้นที่ ๒ และปฏิบัติตามคำสั่งยุทธการที่ ๑/๓๕ โดยให้ทุกหน่วยเข้าที่รวมพลขั้นต้นใกล้พื้นที่ปฏิบัติการตามสี่แยกสะพานและสถานที่สำคัญให้เสร็จสิ้นภายในเวลา ๑๙.๐๐ น. สำหรับกองกำลังทหารบกและกองกำลังตำรวจ ให้รับผิดชอบสกัดบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ สะพานสมมติอมรมารค สะพานระพีพัฒนลาภ สะพานเหล็ก และสะพานภาณพันธ์

เวลาหกโมงเย็น

ทหารในสังกัดกองกำลังรักษาพระนครเตรียมพร้อมในที่ตั้งประมาณ ๒,๐๐๐ นาย บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ มีรถดับเพลิงจำนวน ๑๐ คัน และรถพยาบาลหนึ่งคัน

เวลาทุ่มเศษ

ทหารช่างจาก ช.พัน ๑ รอ. พร้อมด้วยรถยีเอ็มซีสองคัน บรรทุกรั้วลวดหนามมาจอดเตรียมพร้อมอยู่หน้ากระทรวงคมนาคม

ราวสามทุ่ม

คณะกรรมการสมาพันธ์ฯ ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ น.พ.เหวง โตจิราการ ขึ้นไปบนเวที
พล.ต. จำลองได้นำประชาชนกล่าวปฏิญาณอย่างพร้อมเพรียงกันต่อหน้าพระแก้วมรกตและพระบรมมหาราชวังว่า จะเคารพเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะต่อสู้กับเผด็จ
การ และให้มีประชาธิปไตยที่นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง โดยยึดมั่นในหลักการอหิงสาสันติวิธี



น.พ. เหวงประกาศให้ประชาชนเดินไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอคำตอบจาก พล.อ. สุจินดา ประชาชนจึงทยอยเดินออกจากท้องสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนินกลาง โดยมีขบวนของ พล.ต. จำลองเป็นผู้นำ
รายการบนเวทียังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อดึงคนบางส่วนไว้ ให้การเคลื่อนขบวนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่วุ่นวาย นางประทีปกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องเคลื่อนขบวนว่า เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์อย่างสันติวิธีและขอให้ผู้ร่วมขบวนทุกคนรักษาความสงบ

ไม่นาน ถนนราชดำเนินกลางก็เต็มไปด้วยฝูงชน ธงเล็กสีขาวโบกไสวตลอดขบวน พร้อมกับเสียงร้องขับไล่ พล.อ. สุจินดาดังเป็นระยะ ๆ การจราจรย่านสนามหลวงเป็นอันพาตไปทันที
ที่สะพานผ่านฟ้าฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจนับพันนายพร้อมโล่หวาย ไม้กระบองตรึงกำลังอยู่โดยมีลวดหนาววางเป็นแนวกั้น รถดับเพลิงและทหารเสริมกำลังอยู่ด้านหลัง

มือที่สาม

การปะทะครั้งที่แรกเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาประมาณ ๒๑.๒๐ - ๒๒.๐๐ น. เมื่อฝูงชนกลุ่มแรกที่มาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ เผชิญหน้ากับแนวกีดขวางและขอร้องตำรวจให้เปิดทางแต่ไม่สำเร็จ ประชาชนจึงพยายามฝ่าแนวกั้นโดยใช้ไม้กระแทกสิ่งกีดขวาง ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มมือและเข้าดึงลวดหนาม บางคนก็ใช้มือเปล่า


พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รมช. มหาดไทยในขณะนั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการฉีดน้ำสกัดฝูงชนในทันทีที่กลุ่มผู้ชุมนุมรุกล้ำผ่านเข้ามา
แต่เนื่องจากน้ำที่ฉีกออกมานั้นแรงทั้งยังเป็นน้ำครำเน่าเหม็น ส่งผลให้ผู้ชุมนุมบางรายถึงกับเสียหลักและเกิดอารมณ์ฉุนเฉียว ประชาชนจึงตอบโต้ด้วยการขว้างปาขวดน้ำและก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่

ต่อมา ฝูงชนกลุ่มหนึ่งบุกยึดรถดับเพลิงจำนวนแปดคันที่กำลังฉีดน้ำใส่กลุ่มชน แล้วฉีดน้ำกลับใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้ตำรวจต้องถอยร่นไป แต่ในที่สุดกำลังตำรวจนับพันนายก็บุกตะลุยเข้าชิงรถดับเพลิงคืนได้ โดยใช้กระบองรุมกระหน่ำตีกลุ่มผู้ยึดรถ การปะทะระหว่างฝูงชนกับตำรวจที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ และหน้ากรมโยธาธิการกินเวลานานนับชั่วโมง นอกจากก้อนหินและขวดน้ำแล้ว ยังมีคนใช้ขวดน้ำมันจุดไฟรวมทั้งระเบิดขวดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดเสียงดังเป็นระยะ ๆ


ทางฝ่ายตำรวจใช้กระบองเข้าทุบตีประชาชน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ( ผู้จัดการฉบับพิเศษ ๒๕๓๕ ) ผู้สื่อข่าวและช่างภาพหลายคนโดยทุบตี ถูกยึดฟิล์ม กล้อง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไป มีผู้บาดเจ็บเลือดอาบรวมถึงถูกทุบตีจนเสียชีวิตหลายราย

ในช่วงเวลาเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจออกข่าวว่า พล.ต. จำลองได้นำประชาชนเคลื่อนย้ายจากท้องสนามหลวงเพื่อมุ่งสู่พระตำหนักจิตรลดาฯผู้ชุมนุมได้ขว้างปาเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ รัฐบาลออกแถลงการณ์ให้ประชาชนที่มาชุมนุมกลับที่พักโดยด่วน

เวลา ๒๒.๑๕ น.

ตำรวจนำรั้วลวดหนามมาตั้งขวางไว้ตามเดิม ผู้บาดเจ็บถอยมารวมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เพิ่งเคลื่อน


ขบวนมาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ พล.ต.จำลองได้กล่าวขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบและนั่งลงต่อสู้โดยสันติวิธี ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในความสงบ แต่มีบางส่วนที่ยังคงขว้างปาขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชายฉกรรจ์กลุ่มหน้าสุดประมาณ ๒๐ คน พยายามประสานมือกันเพื่อดึงประชาชนให้นั่งลง

ยึดสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง

เวลา ๒๓.๐๐ น.

ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ กลับสู่ความสงบ กลุ่มผู้ชุมนุนด้านกรมโยธาธิการกลับใช้ความรุนแรงและยั่วยุเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดการปะทะ มีการขว้างปาด้วยระเบิดเพลิงประทัด ในที่สุดก็มีการยึดสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง นำรถดับเพลิงออกมา ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะในบริเวณดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งนำขวดบรรจุน้ำมันก๊าดมาเตรียมไว้ที่บริเวณสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง และกระทำการยั่วยุให้เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนบริเวณนั้นจนตำรวจต้องถอนกำลัง

เผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง

ในช่วงเวลาเดียวกัน สถานการณ์ทางสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งมีสภาพไม่ต่างกับสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทองเท่าใดนัก เพราะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งเจตนาก่อความรุนแรงขึ้น โดยการขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ เข้าไปในสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งลงมือเผาและทุบรถยนต์ ซึ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ
ก่อนที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งจะถูกเผาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ภายในอาคารเริ่มทยอยกันออกไปทางด้านหลังกองกำกับการ หลังจากตำรวจออกไป กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้เข้าไปในสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเพี่อเผาและฉกฉวยทรัพย์สิน

ผู้บุกรุกสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเป็นกลุ่มชายฉกรรจ์ ตัดผมรองทรง บางคนศีรษะเกรียนร่วมกับกลุ่มวัยรุ่นอายุประมาณ ๑๗-๑๘ ปี มีข้อสังเกตว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีการเตรียมการในการเผาทำลายอาคารไว้พร้อมพรัก เพราะมีผู้ชุมนุมบางคนพยายามเข้าไปห้ามแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการขว้างปาถุงใส่น้ำมันจำนวนหลายถุงที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเตรียมมาได้ นอกจากนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เพราะแม้แต่ประตูห้องขังก็ได้เปิดให้ผู้ต้องขังหนีออกมาก่อนแล้ว กลุ่มผู้บุกรุกทำงานด้วยความคล่องแคล่ว รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ราวกับได้เตรียมการมาอย่างรอบคอบ


ตลอดเวลาที่เกิดความวุ่นวายบนถนนราชดำเนินนอก ประชาชนนับแสนตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัว ซึ่ง พล.ต. จำลอง คุมสถานการณ์ไว้ได้ ยังคงนั่งชุมนุมอย่างสงบ
พล.ต. จำลอง ได้ประกาศต่อที่ชุมนุมว่า ไม่ขอรับผิดชอบต่อการก่อจลาจลทั้งหมดเพราะเป็นฝีมือของมือที่สามที่หวังสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชน

๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

เที่ยงคืนเศษ โทรทัศน์ได้ออกข่าวว่า พล.ต.จำลองได้ปลุกระดมประชาชนทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ทางราชการจึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียมากกว่านี้

เวลา ๐๐.๓๐ น.

โทรทัศน์ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงนามโดย พล.อ. สุจินดา และ พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ รมว. มหาดไทย

เวา ๐๑.๓๐ น.

โทรทัศน์ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ห้ามชุมนุมมั่วสุมเกิน ๑๐ คนขึ้นไป
ต่อมาเวลาตีสาม โทรทัศน์ได้ประกาศเพิ่มเติมว่า พล.ต. จำลองได้นำการจลาจลเผารถ เผาสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง ยึดสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ทางราชการจึงต้องเข้าระงับความรุนแรงโดยเร็วที่สุด

มีข้อน่าสังเกตว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ให้เหตุผลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง โดยกล่าวหาว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่พยายามรื้อลวดหนามมีเครื่องมือ ได้แก่ กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ ถุงมือ และกระสอบ แต่หากพิจารณาจากภาพถ่ายของผู้สื่อข่าวแล้ว ประชาชนมีเพียงมือเปล่า


ในราวตีสี่เศษ กำลังทหาร ๒,๐๐๐ นายและตำรวจ ๑,๕๐๐ นาย ซึ่งเตรียมพร้อมที่สะพานมัฆวานฯ ก็เคลื่อนกำลังสู่สะพานผ่านฟ้าฯ มีการยิงปืนกราดใส่ฝูงชนบนถนนอย่างไร้เหตุผล มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย

แล้วในท่ามกลางความสงบของผู้ชุมนุมนับแสน เสียงปืนชุดแรกของทหารที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ก็ดังสนั่นกึกก้องนานราว ๑๕ นาที ลูกกระสุนแหวกอากาศเป็นห่าไฟขึ้นสู่ฟ้าตามวิถีเพื่อขู่ขวัญ ประชาชนที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณผ่านฟ้าฯ ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ หลบหนีกันแตกกระเจิง มีเสียงร้องโอดครวญของผู้ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกยิง และหลายคนเสียชีวิต
สิ้นเสียงปืน ผู้ชุมนุมกลับมาผนึกกำลังกันใหม่ตรงสะพานผ่านฟ้าฯ ปรบมือเสียงดังหนักแน่นเรียกขวัญกำลังใจของผู้ชุมนุมให้กลับมากอีกครั้ง

เกือบรุ่งสาง เสียงปืนชุดที่ ๒ ก็ดังกึกก้องไม่แพ้ครั้งแรก ทหารเคลื่อนพลเดินดาหน้าเข้ามาพร้อมรถดับเพลิงฉีดน้ำใส่ฝูงชนจนแตกกลุ่มถอยรุนจากบริเวณสะพาน เสียงปืนจางลง ผู้ชุมนุมพร้อมใจกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีราวกับต้องการขอพึ่งพระบารมี


แห่งองค์พระมหากษัตริย์ให้ช่วยพสกนิการที่กำลังถูกทำร้าย ทว่าไม่ทันที่เสียงเพลงจะจบดี เสียงปืนก็ดังสนั่นขึ้นอีกครั้ง หนนี้ไม่มีเสียงตอบโต้จากผู้ชุมนุม

กำลังทหารเข้ายึดสะพานผ่านฟ้าฯ พร้อมกับเอาลวดหนามกั้นไว้ วิถียิงที่มีทั้งขึ้นฟ้าและระดับบุคคลได้สังหารประชาชนและทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย
 ส่วนลำโพงของเวทีใหญ่ถูกยิงแตกกระจุย
ในช่วงเวลาเดียวกัน โทรทัศน์ประกาศว่ากำลังทหาร ตำรวจ ได้เข้ากวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบแล้ว

แผนไพรีพินาศ - แผนสังหารผู้บริสุทธิ์

แผนไพรีพินาศ ๓๓ ขั้นที่ ๓ ระบุว่า หากปฏิบัติการในขั้นที่ ๒ ( ขั้นป้องกัน ) ไม่สำเร็จ และสถานการณ์ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าระงับยับยั้งและยุติภัยคุกคาม เพื่อสถาปนาความสงบเรียบร้อยให้กลับคืนมาก ( รายงานของกองทัพบกต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล )

มีข้อน่าสังเกตว่า ในช่วงเวลา ๒๓.๐๐ น. ขณะเกิดการปะทะกันบริเวณกรมโยธาธิการ นายตำรวจรักษาการณ์ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ได้ขอกำลังทหารมาช่วยตั้งแต่เที่ยงคืนก่อนมีการเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง แต่กำลังทหารกลับมาถึงเวลา ๐๔.๐๐ น. หลังจากที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งถูกเผาไปเรียบร้อยแล้ว


ถ้าพิจารณาตามแผนไพรีพินาศแล้วกล่าวได้ว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งอาจตกเป็นเหยื่อของการเผาสถานีตำรวจ เพราะนายตำรวจประจำสถานีนครบาลได้ขอกำลังจากโรงเรียนนายร้อย จปร. ( เก่า ) ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนแต่เป็นเพราะเหตุใด กำลังทหารจึงมาถึงล่าช้าทั้ง ๆ ที่ระยะทางห่างกันเพียงไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร 

จับจำลอง - สลายม๊อบ

หกโมงเช้า

พล.ต. ฐิติพงษ์ เจนนุวัตร ผู้บัญชาการกองพล 1 กับตัวแทนทหารอีกหนึ่งคนเปิดเจรจากับตัวแทนฝ่ายชุมนุม คือ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ส.ส. พรรคพลังธรรม ที่จุดกึ่งกลางระหว่างทหารกับประชาชน โดยฝ่ายทหารขอให้ไปชุมนุมที่สนามหลวง

เจ็ดโมงเช้า

พล.ต จำลองโทรศัพท์ติดต่อกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและขอความช่วยเหลือ

สิบโมงเช้า

ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดาชี้แจงกับคณะรัฐมนตรีถึงสถานการณ์และเหตุผลที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ไม่ได้พูดถึงการใช้กำลังอาวุธเข้าทำร้ายประชาชน
เตรียมสลายการชุมนุม
ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ หลังจากทหารได้ใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อตอนเช้ามืด ในตอนสาย บรรยากาศการชุมนุมกลับสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง ผู้ชุมนุมได้มอบดอกไม้ให้แก่ทหารและตำรวจปรามจราจล

๑๒.๓๐ น.

กองกำลังรักษาพระนครวางแผนสลายการชุมนุม ( จากรายงานของกองทัพบกต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล )

๑๓.๐๐ น.

ทหารตั้งกำลังปิดกั้นบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ท่าพระจันทร์ สีแยกคอกวัว และวางลวดหนามขวางถนนราชดำเนินตรงบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ 
ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมชุมนุมถูกสกัดไว้ไม่ให้เข้า ในขณะที่ผู้ชุมนุมภายในเหลืออยู่เพียง ๒ หมื่นคน

๑๔.๐๐ น.

พล.อ. สุจินดาออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กล่าวหา พล.ต. จำลองและบุคคลบางคนว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงจนทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลายสถานที่ราชการ จึงต้องใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความเสียหาย

๑๕.๐๐ น
.
กองกำลังรักษาพระนครก็สั่งการให้สลายการชุมนุมจากสะพานผ่านฟ้าฯ ถึงกรมประชาสัมพันธ์ โดยให้เหตุผลว่า " ในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจำนวนมากกองกำลังรักษาพระนครได้พิจารณาเห็นว่า หากการชุมนุมในจุดังกล่าวดำเนินต่อไปจนถึงเวลาค่ำเหตุรุนแรงก็คงจะเกิดขึ้นอีกเหมือนกับที่เกิดขึ้นในคืนที่ผ่านมาแล้ว ( ๑๗ พ.ค. ๓๕  ) จึงจำเป็นต้องสลายการชุมนุม "



สังหารโหด ใบไม้ร่วงกลางนาคร

บ่ายสามโมง บนถนนราชดำเนิน

ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพพักผ่อนหลบแดดร้อน เสียงปืนก็ดังสนั่นราวฟ้าถล่มทหารเดินดาหน้าเข้าล้อมกรอบกลุ่มผู้ชุมนุมจากทุกทิศ โดยมีรถหุ้มเกราะเคลื่อนตามมาข้างหลัง ผู้คนนับหมื่นแตกกระเจิงวิ่งหนีหลบไปตามซอกเล็กซอกน้อย ส่วนที่เหลือราว ๓,๐๐๐ คนหมอบราบลงกับพื้น ได้ยินเสียงหวีดร้องและเสียงร้องให้สะอึกสะอื้นท่ามกลางเสียงปืนรัวกระหน่ำ
ผู้ที่หลบรอดมาได้เล่าว่า ทหารนอกจากยิงปืนขึ้นฟ้าแล้ว ยังยิงกราดใส่ผู้ชุมนุมด้วย และมีกองกำลังบางส่วนใช้กระบองเข้าทุบตีผู้ชุมนุมที่นอนหมอบกับพื้นอย่างไม่ยั้งมือ


อย่าทำร้ายประชาชน จับผมไปคนเดียว " พล.ต. จำลองพยายามเปล่งเสียงพร้อมกับชูมือแสดงตัวขณะที่หมอบราบอยู่กับฝูงชน สารวัตรทหารร่างยักษ์สองนายตรงเข้าจับกุมใส่กุญแจมือแล้วนำตัวขึ้นรถออกไปจากที่ชุมนุม

กำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ถนนราชดำเนินตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัวไว้ได้อย่างสิ้นเชิงผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อนอกคว่ำหน้า สองมือไพล่หลังมัดไว้ด้วยเสื้อ ส่วนผู้หญิงนอนคว่ำหน้า หลายคนร่างสั่นสะทกหวาดผวา น้ำตาอาบใบหน้า
รถ ยี เอ็ม ซี ๑๐ คันและรถบัส ๓ คัน นำผู้ชุมนุมไปกักขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ประมาณว่ามีผู้ถูกจับนับพันคน

๑๕.๔๕ น.

ข่าวด่วนพิเศษทางโทรทัศน์ประกาศว่า กองกำลังรักษาพระนครได้สลายกลุ่มก่อการจลาจลเรียบร้อยแล้วโดยไม่เสียเดือดเนื้อ
การเข้าสลาบม๊อบครั้งนี้ใช้กำลังทหารสามกองพัน ร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนในชุดปราบจราจลอีกหนึ่งกองพัน ประมาณ ๒,๐๐๐ คน พร้อมรถเกราะติดปืนกลสี่คัน ภายหลังการสลายม๊อบกำลังทหารยังหนุนเข้ามาไม่ขาดสาย ประมาณว่ามีกำลังทหารทั้งหมดไม่ต่ำกว่าหนึ่งกองพลกับอีกห้ากองพันหรือประมาณ ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ คน

เสียงปืนรัวเป็นชุด ๆ ยังดังอยู่ตลอดถนนราชดำเนินเพื่อสลายฝูงชนที่ยังเหลืออยู่ตามซอกเล็กซอกน้อย และปรามไม่ให้คนนอกเข้ามาภายในบริเวณ ส่วนตามแนวสกัดของทหารโดยรอบถนนราชดำเนินยังมีฝูงชนจับกลุ่มตะโกนด่าทหารและขับไล่ พล.อ. สุจินดา

สี่โมงครึ่ง

มีการยิงปืนใหม่กราดไปทางป้อมมหากาฬ ใส่กลุ่มคนที่หลบตามซอกหลืบ มีคนล้มกองกับพื้นในบริเวณนั้นมากมาย

ห้าโมงเศษ

กำลังทหารได้กราดยิงติดต่อกันเป็นเวลานานอีกครั้งทั่วทั้งถนนราชดำเนิน ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงสะพานผ่านฟ้า
หลังจาก พล.ต. จำลองถูกจับ ประชาชนยังคงไม่สลายการชุมนุม แต่กลับทวีจำนวนมากขึ้นและถอยร่นไปตั้งหลักอยู่บริเวณกรมประชาสัมพันธ์โรงแรมรัตนโกสินทร์ และบริเวณใกล้เคียง ทางด้านหน้ากรมประชาสัมพันธ์มีกำลังของกองทัพบกจำนวนหนึ่งกองพันอยู่ในแนวที่ ๑ หน้าแนวรั้วลวดหนาม แนวที่ ๒ เป็นกำลังของทหารอากาศจำนวนหนึ่งกองพัน และแนวที่ ๓ เป็นกำลังของกองทัพบกอีกสองกองพัน

หกโมงเย็น

ประชาชนจากที่ต่าง ๆ ราว ๕ หมื่นคนได้กลับมารวมตัวกันที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ทอดยาวไปถึงกระทรวงยุติธรรมหน้าขบวนถือธงชาติโบกสะบัด ทั้งอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ มายืนประจันหน้ากับแนวรั้วลวดหนามและแถวทหาร
เสียงปืนดังรัวถี่ยิบนานนับสิบนาที ฝูงชนหมอบราบกับพื้น บ้างส่งเสียงโห่ บ้างเคาะขวดพลาสติกกับพื้นดังสนั่น สิ้นเสียงปืนปรากฏว่าชายหนุ่มคนหนึ่งถูกยิงที่คอทรุดฮวบกับพื้น และชายชราคนหนึ่งถูกยิงตรงท้ายทอย กระสุนทะละหน้าผากมันสมองไหลนอง ประชาชนยืนมุงดูด้วยความโกรธแค้น เสียงตะโกนแช่งด่า พล.อ. สุจินดา ดังกึกก้องทั่วบริเวณ
ทุ่มครึ่ง

รถบรรทุกน้ำรถเสบียงของทหารพยายามฝ่าฝูงชนเข้าไปส่งเสบียง ฝูงชนจึงเข้ายึดและจุดไฟเผา 
กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามต่อต้านการปราบปรามโดยใช้อาวุธและเครื่องกีดขวางที่หาได้ในบริเวณนั้น เช่น ขวดน้ำพลาสติก กระถางต้นไม้แผงกั้นจราจร ตลอดจนรถประจำทาง รถน้ำมัน มีการยึดรถเมล์ ๑๑ คน วัยรุ่นกล้าตายขึ้นยืนโบกธงเบียดเสียดกันบนหลังคารถ ร้องเพลงปลุกใจสลับกับตะโกนขับไล่ พล.อ. สุจินดา

พรรคฝ่ายค้าน ณ ที่ทำการพรรคได้ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลยุติการใช้กำลังรุนแรงกับประชาชนทันทีโดยไม่มีข้อแม้ และพรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติให้รัฐบาลชี้แจงกรณีใช้


ความรุนแรงกับประชาชน ทั้งจะเสนอให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์อย่างละเอียดเพราะมีเรื่องน่าสังเกตหลายประการ

รัฐบาลออกประกาศจับแกนนำเจ็ดคน คือ
๑.นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล
๒.น.พ. เหวง โตจิราการ
๓. น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์
๔.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข
๕.นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ
๖.น.ส. จิตราวดี วรฉัตร
๗.นายวีระ มุสิกพงศ์

เผาและเผา

เพื่อนฝูงที่ล้มตายต่อหน้า คนเจ็บที่นอนพะงาบ ๆ อยู่กับพื้น กลิ่นคาวเลือด ควันปืน เสียงร่ำให้หวีดร้อง การต่อสู้ของคนมือเปล่าถูกตอบแทนด้วยอาวุธหนักยิ่งกว่าในสงคราม ความอัดอั้นคับแค้นปะทุออกมาอย่างสุดกลั้น รถยนต์หลายคันในบริเวณนั้นถูกเข็นออกมากลางถนน กระหน่ำตีด้วยไม้กระทืบและพลิกคว่ำให้สาแก่ใจ มีแต่ความรู้สึกต้องการทำลาย จนกว่าจะหมดเรี่ยวแรงหรือความคับแค้นที่มีต่อสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่ได้รับอุบัติขึ้น

ความพยายามเผากรมประชาสัมพันธ์เกิดขึ้นสองช่วงเวลาคือ ช่วงแรกเวลา ๒๒.๐๐ - ๒๓.๐๐ น. เริ่มจากการทุบกระจกกรมประชาสัมพันธ์โดยใช้ขวดบรรจุน้ำมัน เศษผ้า เศษกระดาษ โยนเข้าไปข้างในตึก ทำให้ไฟลูกไหม้โต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ชุมนุมพยายามช่วยกันดับไฟได้ทัน แต่เพลิงได้ลุกไหม้ขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาตีสามหลังจากการปราบปรามช่วงสี่ทุ่ม มีผู้นำรถเมล์และรถน้ำมันเข้ามาในบริเวณอาคาร ไฟได้ลุกไหม้ขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีใครสามารถดับได้ทัน

ทางด้านกองสลากถูกเผาในช่วงเวลาประมาณสี่ทุ่มเศษ และกรมสรรพากรเผาเมื่อเวลา ๑๒.๐๐ น. ของวันที่ ๑๙ พฤษภาคม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน ๒๐๐ - ๓๐๐ คนรวมทั้งม๊อบจักรยานยนต์ประมาณ ๕๐ คัน ได้เริ่มเผาตั้งแต่ชั้นล่างจนกระทั่งกลุ่มควันได้กระจายออกมาจนถึงด้านนอกและลุกไหม้จนทั่วอาคารในที่สุด เพลิงลุกโซนในราตรีอันมืดมิด ถนนราชดำเนินเงียบวังเวง มีเพียงเสียงเปลวไฟปะทุ กับเสียงปืนที่ดังเป็นระยะ ๆ ตลอดคืน

มีข้อน่าสังเกตว่า กรมประชาสัมพันธ์ที่มีเค้าว่าจะถูกเผาตั้งแต่สี่ทุ่มของคืนวันที่ ๑๘ พฤษภาคม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจดับเพลิงกลับได้รับคำสั่งให้เข้าดับไฟเมื่อเวลาประมาณ


๐๑.๐๐ น. ของวันที่ ๑๙ พฤษภาคม เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า เห็นรถดับเพลิงสามคันแรกมาถึงที่เกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณตีสี่สิบนาที ( รายงานการให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการวิสามัญ )
จึงมีผู้ตั้งคำถามว่า เหตุใดคำสั่งให้ดับเพลิงจึงล่าช้ากว่าเวลาเกิดเหตุนานจนกระทั่งสถานที่ราชการถูกไฟเผาจนหมด หรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อรัฐต้องการสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชนด้วยเหตุผลทำลายทรัพย์สินราชการ 

สามทุ่มครึ่ง

ทหารที่ยืนตรึงกำลังชั้นนอกสุดได้รับคำสั่งให้ติดดาบปลายปืน บรรยากาศตึงเครียดขึ้นทันท

สี่ทุ่มเศษ

ขณะที่รถเมล์คันใหม่ที่เพิ่งยึดมาได้กำลังเคลื่อนที่เข้าเทียบติดรั้วลวดหนาม ทหารก็กระหน่ำปืนกลขึ้นชุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ฝูงชนหมอบราบกับพื้น บ้างตะเกียกตะกายคลานหลบจากแนวหน้า กระสุนแหวกอากาศเป็นแสงไฟแลบแปลบปลาบ วัยรุ่นบนหลังคารถถูกยิงร่วงกราว ไม่เว้นแม้แต่คนที่กำลังถือธงหรือชูพระบรมฉายาลักษณะห่ากระสุนส่วนหนึ่งเด็ดชีวิตประชาชนบนหลังคาอาคารกองสลากฯ โดยไม่ทันรู้ตัว

แล้วเกินกว่าใครจะคาดคิด คนขับรถเคนตายคนหนึ่งก็ตะบึงรถเมล์พุ่งพังรั้วลวดหนามเข้าหาแนวทหาร ห่ากระสุนถล่มเข้าใส่รถเมล์เสียงดังหูดับตับไหม้จนกระทั่งพรุนไปทั้งคันรถและจอดแน่นิ่งพร้อมกับร่างคนขับหลังพวงมาลัย
ความกล้าหาญและความตายของเขาปลุกจิตใจของคนที่เหลือ รถเมล์อีกหลายคันถูกเข็นให้เคลื่อนเข้าใส่ทหาร ห่ากระสุนชุดใหม่คำรามก้องแต่ไม่อาจหยุดยั้งฝูงชนที่กำลังบ้าคลั่งได้อีกต่อไป
รถเมล์ยังคงรุกคืบหน้าเข้าไปเรื่อย ๆ แถวทหารทั้งระดมยิงและถอยร่นไปตั้งหลักห่างออกไป ชายคนหนึ่งขึ้นไปยืนโบกธงชาติอย่างไม่เกรงกลัวอยู่บนหลังคารถกระสุนไม่ทราบจำนวนถีบร่างเขาร่วงสู่พื้นเสียชีวิตไปทันที
เสียงปืนยาวนานต่อเนื่องราวกับเป็นสนามรบที่กำลังปะทะกันอย่างดุเดือด ทว่าในความเป็นจริงมีแต่ฝ่ายทหารเท่านั้นที่ใช้ปืน ส่วนประชาชนมีเพียงมือเปล่า สิ้นเสียงปืน ซากรถเมล์กลายเป็นเศษเหล็กกลิ่นคาวเลือกโชยคลุ้ง เสียงหวีดร้องสับสน ถนนราชดำเนินเกลื่อนกลาดด้วยศพและผู้บาดเจ็บนับร้อย ๆ เลือดสีแดงอาบพื้นแผ่นดิน หนึ่งในหลาย ๆ ร่างที่นอนแน่นิ่งจมกองเลือกจักรพันธ์ อมราช ชายหนุ่มวัย ๒๒ ปี ขึ้นไปโบกธงชาติอยู่บนหลังคารถ ถูกยิงเสกหน้า หัวสมองแตกระเบิดด้วยแรงกระสุน ร่างของเขาร่วงหล่นสู่ผืนดิน ผู้คนได้แต่ร่ำไห้และกรีดร้องโหยหวนรอบ ๆ ศพของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมายที่ถูกฆ่าตายอย่างเหี้ยมโหดเสียงดังระงมว่า
ทหารฆ่าประชาชน ทหารฆ่าประชาชน "


ในช่วงเวลาสี่ทุ่มเป็นต้นมา หน่วยพยาบาลซึ่งประจำอยู่ที่ภัตตาคารศรแดง มุนอนุสาวรีย์
ประชาธิปไตย ได้ย้ายมายังโรงแรมรัตนโกสินทร์เพราะกลุ่มแพทย์ประเมินสถานการณ์ว่า การรวมตัวของประชาชนที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกัน
ร่างผู้บาดเจ็บที่โชกด้วยเลือด และศพวีรชนคนแล้วคนเล่า ถูกหามเข้าสู่ห้องล๊อบบี้ของโรงแรมรัตนโกสินทร์ซึ่งกลุ่มแพทย์อาสาได้จัดสถานที่เป็นหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน มีแพทย์ประมาณ ๔0 คน และรถพยาบาลหกคันคอยรับมือกับจำนวนคนเจ็บที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ อาสาสมัครจับมือล้อมวงกั้นเป็นเขตรักษาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การปฏบัติงานของแพทย์และพยาบาล ศพและคนเจ็บถูกหามเข้ามาเรื่อย ๆ หลายคนมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ขา หน้าอก กลิ่นคาวเลือกตลบอบอวล
บางคนอยู่ในอาการหวาดกลัว แพทย์ทุกคนพยายามช่วยอย่างเต็มความสามารถ แพทย์คนหนึ่งบอกให้นำแต่เฉพาะคนเจ็บเข้ามาก่อน แต่ก็เสียงตอบกลับมาว่าข้างนอกมีอยู่อีกมากเหลือเกิน ยังเองเข้ามาไม่ได้

คนเจ็บถูกทยอยส่งโรงพยาบาลโดยรถพยาบาลเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า เสียงไซเรนร้องโหยหวน ทว่ารถพยาบาลที่วิ่งออกไปส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับเข้ามารับผู้บาดเจ็บเพราะทหารสกัดไว้ ผู้ชุมนุมจึงนำรถเมล์มาช่วยขนคนเจ็บ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลศิริราชก็ได้ประกาศรับบริจาคโลหิตเป็นการด่วน

ราวเที่ยงคืน

ข่าวด่วนพิเศษทางโทรทัศน์แถลงปฏิเสธว่า ข่าวทหารยิงประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง 

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕

มอเตอร์ไซค์พิทักษ์ประชาธิปไตย

หลังเที่ยงคืน ฝูงชนที่ถนนราชดำเนินเริ่มบางตา แต่ยังรวมกลุ่มกันอยู่เป็นกระจุก ๆ รอบสนามหลวง ตามอาคารและซอกซอยต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีรถจักรยานยนต์จับกลุ่มวิ่งไปตามถนนสายต่าง ๆ กลุ่มละ ๖๐ คันบ้าง ๗๐ คันบ้าง รายงานจากบางแหล่งอ้างว่าบางกลุ่มมีรถจักรยานยนต์ถึง ๕๐๐ คัน

กลุ่มรถจักรยานยนต์เข้าทำลายสัญญาณไฟจราจรตามสี่แยก ป้อมยาม ป้อมตำรวจ ถูกทุบเสียหาย บางแห่งก็ถูกเผา โดยเฉพาะสถานีตำรวจจะเป็นจุดที่กลุ่มรถจักรยานยนต์เล็งเป็นเป้าหมายของ การแก้แค้นแทนฝูงชนที่ถูกสังหารบริเวณราชดำเนิน


เส้นทางของกลุ่มรถจักรยานยนต์นั้นมีตลอดทั่วทั้งกรุง เช่น ถนนพระรามสี่ สะพานขาว เยาวราช ราชวงศ์ สถานีหัวลำโพง ท่าพระ ฯลฯ สร้างความวุ่นวายราวเกิดสงครามกลางเมืองด้วยการปฏิบัติการดั้งหน่วยรบเคลื่อนที่ แต่นอกจากการทำลายข้าวของราชการแล้ว พวกเขายังชักชวนผู้คนตามท้องถนนให้ไปร่วมต่อสู้ที่สนามหลวงด้วย นอกจากนั้น
มอเตอร์ไซค์บางคันยังถูกใช้เป็นพาหนะ ช่วยพาผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา เนื่องจากรถพยาบาลถูกทหารปิดกั้นไม่ให้วิ่งผ่าน จากบทบาทเหล่านี้ จึงเกิดศัพท์เรียกกลุ่มนี้ว่า " ขบวนการมอเตอร์ไซค์ "

แม้ว่าบทบาทของขบวนการมอเตอร์ไซค์กำลังจะทำให้ผู้ชุมนุมมีโอกาสตอบโต้การกระทำของรัฐบาลมากขึ้น แต่ขบวนการมอเตอร์ไซค์ก็ทำให้สถานการณ์อันแสนยากลำบากที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่สามาถรควบคุมสถานการณ์อันแสนเลวร้ายต่างๆเอาไว้ได้ก็ได้ก่อให้เกิด "หน่วยไล่ล่า" ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ออกไล่ล่าสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์จนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

พล.ต.ท. ณรงค์ เหรียญทอง รักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการออกปฏิบัติการของ " หน่วยไล่ล่า " ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลว่าเป็นเพียงสายตรวจธรรมดาซึ่งมีหน้าที่ดูแลประชาชนและออกไปปราบปรามผู้กระทำผิดเท่านั้น หน่วยไล่ล่าชุดนี้จะแต่งเครื่องแบบ นั่งรถยนต์ตำรวจ มีอาวุธปืนแต่เน้นให้ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่เท่านั้น

จากคำให้สัมภาษณ์ของตำรวจและผู้อยู่ในเหตุการณ์พบว่า " หน่วยไล่ล่า " มีมากกว่าหนึ่งชุด โดยอีกชุดหนึ่งเป็นของฝ่ายทหารร่วมกับตำรวจ โดยใช้รถของ ๑๙๑ ในการปฏิบัติการ และสันนิษฐานว่า " หน่วยไล่ล่า " ที่ออกสังหารประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ห่างไกลจากการชุมนุม คือ ชุดปฏิบัติการร่วมระหว่างทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ
การปฏิบัติการของ " หน่วยไล่ล่า " เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา ๒๒.๐๐ น. ของวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม โดยพื้นปฏิบัติการได้กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อสังเวย " หน่วยไล่ล่า " ครั้งนี้ตั้งแต่ฝั่งพระนครบริเวณสะพานขาว ไปจนถึงฝั่งธนบุรี ตั้งแต่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลทหารเรือ ตลาดพลู บุคคโล ไปจนถึงถนนสาธร
ด้วยความคล่องตัวของรถจักรยานยนต์ ทำให้กำลังตำรวจไม่สามารถจัดการกลุ่มรถจักรยานยนต์พิทักษ์ประชาธิปไตยได้อย่างเด็ดขาดในคืนนั้น และขบวนการมอเตอร์ไซค์ก็ได้พลิกสถานการณ์ให้เห็นว่า การล้อมฆ่าที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่อาจหยุดยั้งการต่อสู้ของประชาชนได้เลย

อรุณรุ่งที่ไร้การบันทึก

เวลา ๐๔.๐๐ น.

ของวันที่ ๒๐ พฤษภาคม นายแพทย์คนหนึ่งในโรงเรียนรัตนโกสินทร์ถือโทรโข่งแจ้งว่า กำลังทหารจากศูนย์สงครามพิเศษลพบุรีเคลื่อนประชิดเขามาแล้ว และมีข่าวว่าจะปิดล้อมปราบขั้นสุดท้ายเวลาตีห้า แพทย์ได้แจ้งให้ทุกคนทราบและทำการปรับสภาพหน่วยพยาบาลให้อยู่ทำเลที่ปลอดภัยพร้อมกับเตรียมรับสถานการณ์บุกปราบ โดยให้ทุกคนนอนราบคว่ำหน้ากับพื้นประสานมือหลังศรีษะ นอนนิ่ง ๆ ไม่ส่งเสียงและไม่ต่อสู้
ราวตีห้า กำลังทหารกว่า ๑,๐๐๐ นายเดินเรียงหน้ากระดานระดมยิงเข้าใส่ฝูงชนตั้งแต่หน้ากรมประชาสัมพันธ์เข้ามา เพื่อหวังเผด็จศึกสลายการชุมนุมให้ได้ก่อนรุ่งสาง ฝูงชนแตกกระจายไปคนละทิศละทาง บ้างคว่ำจมกองเลือดบ้างคลานตะเกียกตะกายให้พ้นวิถีกระสุน กำลังทหารจากทุก ๆ ด้านโอบล้อมต้อนฝูงชนไม่ให้เล็ดลอดออกไปได้ เสียงหวีดร้องดังระงมไปทั่ว เสียงปืนดังเป็นระยะตามจุดต่าง ๆ

เพียง ๓๐ นาที ฝูงชนถูกต้อนมารวมกันหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผู้ชายถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ส่วนผู้หญิงถูกกันไว้อีกทาง
กำลังทหาร ๓๐๐ นายได้ล้อมฝูงชนถูกต้อนมารวมกันหน้าโรงแรม ทุกคนที่ห้องล๊อบบี้ถูกบังคับให้นอนก้มหน้า หากใครชักช้าหรือขัดขืนจะถูกกระทืบไม่เว้นแม้แต่แพทย์อาสาซึ่งสวมชุดเขียวแตกต่างจากคนทั่วไป ห้องพักทุกห้องถูกเข้าตรวจค้น ใครที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานการเข้าพักจะถูกต้อนลงมารวมกับคนอื่น ๆ หน้าโรงแรม ทหารเหยียบลงบนร่างนับร้อยที่นอนคว่ำหน้าอยู่แน่นขนัดในห้องล๊อบบี้ พร้อมกับส่งเสียงตะโกนว่า " เหยียบมันเข้าไป ไอ้ตัวแสบพวกนี้เผาบ้านเผาเมือง เอาไว้ทำไม "





เกือบหกโมงเช้า ประชาชนราว ๒,๐๐๐ กว่าคนนั่งก้มหน้านิ่งในสภาพเชลยศึกสงครามอัดกันอยู่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์รถยีเอ็มซี ๒๐ คัน รถบัสทหารสองคัน ขนผู้ต้องหาก่อการจลาจลส่งเรือนจำชั่วคราวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน

เหตุการณ์ช่วงการเข้าเผด็จศึกครั้งสุดท้ายไม่มีช่างภาพคนใดได้บันทึกภาพ หรือแม้กระทั่งถ่ายภาพวีดีโอ ไม่มีใครรู้ว่าประชาชนถูกสังหารไปอีกกี่มากน้อย หลายเสียงได้เล่าว่า " มีศพประชาชนจำนวนมากที่เสียชีวิตถูกขนขึ้นรถยีเอ็มซีไป แต่ไม่มีใครทราบว่ารถยีเอ็มซีที่ขนศพประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตเหล่านั้นจะวิ่งไปสู่ที่ใด "

ภาพหลังเหตุการณ์ล้อมปราบ กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนห้าสถาบัน ซึ่งได้ร่วมมือกันเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลและผู้อยู่ในเหตุการณ์ช่วงวิกฤต ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการปราบปรามประชาชนครั้งนี้มีพฤติการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาตีห้า ( ผู้สื่อข่าวถูกถอนออกมาหมดตั้งแต่เวลาตีหนึ่ง ) ซึ่งผู้ร่วมเหตุการณ์เห็นตรงกันทั้งหมดว่า น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด เพราะลักษณะการปราบปรามเป็นการปิดล้อมและระดมยิงเข้ามาทุกด้าน ( ยกเว้นทางสะพานพระปิ่นเกล้าซึ่งทหารเรือเปิดให้ผู้ชุมนุมวิ่งออกไป ) มีผู้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะที่วิ่งหลบเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ทุกแห่ง

กวาดจับ ปลุกผีคอมมิวนิสต์

ช่วงเช้า

กองกำลังรักษาพระนครได้ประกาศทางโทรทัศน์ให้ประชาชนระมัดระวังกลุ่มก่อการจลาจลซึ่งใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ

เวลา ๑๑.๐๐ น.

นายวีระเข้ามอบตัวโดยไม่ขอประกันตัว และถูกนำไปฝากขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนที่เดียวกับ พล.ต. จำลอง และ นส. จิตราวดี ซึ่งเข้ามอบตัวตั้งแต่คืนวันก่อนส่วนนางประทีป ได้หลบอยู่ในสถานฑูตญี่ปุ่น
พล.อ.เกษตรกล่าวว่า จะมีการจับกุมผู้อยู่ในข่ายก่อการจลาจลอีกเจ็ดคน หนึ่งในนั้นคือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และมีสมาชิกระดับสูงของพรรคฝ่ายค้านอีกสี่ห้าคน

เที่ยง

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมนายธีรยุทธ บุญมี และผู้ต้องสงสัยอีกจำนวนหนึ่งที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อมาก็ได้ปล่อยตัวนายธีรยุทธ นายธีรยุทธกล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมทางสังคมซึ่งอาจกลายเป็นบาดแผลทางสังคมที่ยากต่อการเยียวยาวรักษา

บ่างสามโมงเศษ

พล.อ. สุจินดา แถลงทางสถานโทรทัศน์ว่า การชุมนุมของประชาชนและก่อวินาศกรรมขึ้นนั้น มีการจัดตั้ง ปลุกปั่นจากกลุ่มคนที่มีความชำนาญในการทำลาย โดยมีนายทหารผู้หนึ่งอยู่เบื้องหลัง นายทหารผู้นี้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับบุคคลที่เคยเป็นกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ และเคยคิดจะทำการปฏิวัติแต่ตนไม่เห็นด้วยการก่อวินาศกรรมครั้งนี้ เพื่อการปฏิวัติโดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ
พล.อ. สุจินดาย้ำว่า ขณะนี้สถานการณ์ได้กลับสู่ความสงบ ไม่มีการชุมนุมใด ๆ และขอให้ประชาชนอย่าได้เชื่อถือข่าวลือต่าง ๆ

บ่ายสามโมง

พ.อ. บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการกองทัพบก ในฐานะตัวแทนกองกำลังรักษาพระนคร แถลงข่าวที่หอประชุมกองทัพบกชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ ๑๘ โดยเฉพาะกรณีกลุ่มรถจักรยานยนต์ ซึ่งในคืนนี้ตำรวจจะเข้าจัดการอย่างเด็ดขาด และขอให้ทุกคนอย่าเชื่อข่าวที่ว่า " ทหารยิงประชาชน "

เสียงคัดค้านและความปั่นป่วนทั่วประเทศ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ ๑๙ แห่งทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงขอให้ พล.อ. สุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


ประชาชน สถาบันการศึกษา และคณะแพทย์ในจังหวัดต่าง ๆ เช่นที่ มหาสารคาม ศรีสะเกษ ภูเก็ต อุบลราชธานี สงขลา เชียงใหม่ ฯลฯ ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกและยุติการแข่งฆ่าประชาชน

คนไทยในชิดนีย์ประท้วงหน้าสถานกงสุลใหญ่เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแสดงท่าทีห่วงใยต่อสถานการณ์ในประเทศไทยและเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการโดยเคารพในสิทธิมนุษยชนด้วย
พรรคความหวังใหม่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว พล.ต. จำลอง เนื่องจากการจับกุม พล.ต. จำลองขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้ความคุ้มครอง ห้ามมิให้จับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างสมัยประชุม
พรรคฝ่ายค้านอีกสามพรรคได้ออกเยี่ยมประชาชนที่บาดเจ็บตามโรงพยาบาลรวมทั้งได้จัดการประชุมและเห็นร่วมกันว่า รัฐบาลจะต้องเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ยุติการใช้ความรุนแรง และขอให้ประธานรัฐสภากับประธานสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์

ปรากฏว่าสภาพทั่วไปในกรุงเทพฯ ทุกคนอยู่ในความสับสนต่อสถานการณ์และมีความกังวลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ร้านทอง ร้านค้าต่าง ๆ ปิดกิจการก่อนเวลา ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ออกข่าวสวนความจริงว่า ธนาคารยังคงเปิดให้บริการตามปกติส่วนพรรครัฐบาลทั้งห้า พรรคไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ ต่อเหตุการณ์สังหารประชาชน

ชุมนุมใหญ่ที่รามคำแหง

กลุ่มประชาชนที่หนีตายจากการปราบปรามบริเวณถนนราชดำเนินได้มุ่งหน้ามาสมทบ กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ ๑๙ พฤษภาคม และเริ่มมีจำนวนมากขึ้นจนถึงประมาณ ๔ - ๕ หมื่นคน มีการตั้งเวทีปราศรัย ผลัดกันขึ้นอภิปรายตลอดเวลา

การชุมนุมครั้งนี้ แกนนำผู้ชุมนุมได้สรุปบทเรียนจากการล้อมปราบที่ถนนราชดำเนิน และวางมาตรการป้องกันการสร้างสถานการณ์จากกลุ่มผู้ไม่หวังดี มีการตรวจอาวุธและห้ามไม่ให้นำรถจักรยานยนต์เข้ามาในมหาวิทยาลัย รวมทั้งวางแนวป้องกันการสลายการชุมนุมด้วยการปิดกั้นเส้นทางเข้ามหาวิทยาลัยทั้ง ๑๒ แห่งด้วยกระสอบทราย ท่อคอนกรีต และกระถางต้นไม้ มีการประสานงานหน่วยแพทย์และพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมเมื่อมีการล้อมปราบ

เวลา ๒๓.๔๐ น.
ขณะที่การชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหงดำเนินไปอย่างสงบ กำลังทหารพร้อมอาวุธจำนวน ๔๐๐ นายก็มุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมีข่าวว่าจะใช้เฮลิคอปเตอร์ปราบปรามผู้ชุมนุม

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕

กระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

เวลาหกโมงเช้า สถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. ได้แพร่ภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานสัมภาษณ์ที่ประเทศฝรั่งเศสถึงเหตุการณ์ในประเทศไทยว่า การฆ่าฟันหรือทำรุนแรงเป็นเรื่องไม่ดี การเสียทรัพย์สินไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคน อยากให้เลิกฆ่าฟัน เลิกรุนแรง เพราะว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน

ราชดำเนินยังไม่สงบ

ที่ถนนราชดำเนิน กำลังทหารได้ถอนออกไปบ้างแล้วและได้เปิดถนนให้รถสัญจรไปมาได้ มีประชาชนมาจับกลุ่มดูซากรถ อาคารทั้งสองฝั่งถนนบางคนได้นำพวงมาลัยดอกมะลิมาวางตามกองเลือดที่ยังเหลือร่องรอยอยู่
เวลาบ่ายโมง มีประชาชนมารวมตัวกันอีกที่ถนนราชดำเนินถึง ๒,๐๐๐ คน มีการเปิดอภิปรายต่อมาคนกลุ่มหนึ่งจุดไฟเผารถขนขยะของ กทม. ที่จอดอยู่รอบอนุสาวรีย์สามคัน ทำให้กำลังทหารประมาณ ๔๐๐ คนต้องเดินดาหน้าเคลื่อนตัวจากถนนราชดำเนินนอกเข้าเคลียร์พื้นที่อีกครั้ง เสียง ปืนกลดังรัวสนั่น ประชาชนวิ่งหนีตายหลบตามซอกซอยต่าง ๆ
ในที่สุด กำลังทหารก็เข้าเคลียร์พื้นที่ได้อย่างเรียบร้อย
ส่วนตามจังหวัดต่าง ๆ ประชาชนยังคงชุมนุมต่อต้าน พล.อ.สุจินดาอยู่อย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลแถลงข่าว

เวลาบ่ายโมง พล.อ.สุจินดา พร้อมด้วยแกนนำห้าพรรค เดินทางมาร่วมกันแถลงข่าวที่ตึกนารีสโมสร มีนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศรอทำข่าวอยู่อย่างคับคั่ง แต่ปรากฏว่าเกิดความสับสนเนื่องจาก พล.อ. สุจินดาต้องการเพียงการถ่ายทอดโทรทัศน์ จึงลุกเดินออกจากห้องแถลงข่าวไปทันที

ผู้สื่อข่าวได้หันไปซักถามแกนนำห้าพรรคแทนโดยได้ถามนายณรงค์ว่า รู้สึกอย่างที่เห็นภาพทหารยิงประชาชน นายณรงค์ตอบว่ายังไม่เห็นทหารยิงใคร
ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามนายสมัครว่าเห็นด้วยกับการฆ่าประชาชนหรือไม่ นายสมัครตอบว่าทำไมเวลาจอร์ช บุช ส่งทหารไปแอลเอ ๖,๕๐๐ นาย ไม่เห็นมีใครด่าบุชเลย
ต่อมา พล.อ. สุจินดาได้ออกแถลงข่าวทางโทรทัศน์เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิด และยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง ๔๐ คน บาดเจ็บ ๖๐๐ คนเท่านั้น

เคอร์ฟิว

เวลาทุ่มครึ่ง ได้มีประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กมม. ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา ๒๑.๐๐ - ๐๔.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันที่รามคำแหง ประชาชนยังคงทยอยมาร่วมชุมนุมกันเกือบแสนคน
โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้นำเทปบันทึกภาพสัมภาษณ์ พล.ต. จำลองขณะถูกควบคุมตัวออกเผยแพร่ พล.ต. จำลองกล่าวว่า ตนรู้สึกสบายที่สุด และกำลังบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ลงในหนังสือชื่อ " ร่วมกันสู้ " ซึ่งจะออกขายเร็ว ๆ นี้

ตลอดทั้งคืนมีกระแสข่าวลือต่าง ๆ มากมาย เช่น การแตกแยกระหว่างทหารเรือกับทหารบก พล.อ. เปรมนำกองกำลังโคราชยกมาช่วยผู้ชุมนุม พล.อ. สุจินดาจะทำการปฏิวัติตัวเอง ฯลฯ

พระบารมียุติปัญหา

เวลาห้าทุ่มครึ่ง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลอง เข้าเผ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนสติและสั่งสอนบุคคลทั้งสอง ทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศชาติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขอให้บุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ หันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ประเทศชาติกลับคืนขึ้นมา
ภายหลังจากกราบบังคมทูลลาแล้ว พล.อ. สุจินดา และ พล.ต. จำลอง พร้อมด้วยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
พล.อ.สุจินดา กับ พล.ต. จำลอง ได้ออกแถลงร่วมกันทางโทรทัศน์ โดย พล.อ. สุจินดา แถลงว่าจะปล่อยตัว พล.ต. จำลอง และออกกฎหมาย นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุม และจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ส่วน พล.ต. จำลองแถลงว่า ขอให้ผู้ที่ก่อความวุ่นวายยุติการกระทำ

ผู้ชุมนุมที่รามคำแหงหลังจากได้ชมข่าวสำคัญและการแถลงข่าวของบุคคลทั้งสอง ส่วนใหญ่รู้สึกผิดหวังที่ พล.อ. สุจินดายังไม่ลาออก แต่ที่ชุมนุมก็ได้ตัดสินใจสลายการชุมนุม แต่ยังคงอยู่รวมกันในมหาวิทยาลัยรามคำแหงจนกว่าจะถึงเวลาตีสี่ ซึ่งพ้นเวลาเคอร์ฟิวแล้ว จึงค่อยทยอยกันกลับบ้าน
มีความเป็นไปได้สูงมากกว่า ถ้าเหตุการณ์การชุมนุมที่รามคำแหงยังไม่ยุติการนองเลือดคงเกิดขึ้นอีกครั้งแน่นอน เห็นได้จากรายงานที่กองทัพบกเสนอต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล ( ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาวิปโยค )
กล่าวว่า
การที่เจ้าหน้าที่ใช้ความนุ่มนวลต่อผู้ชุมนุม เช่น การเจรจาทำความเข้าใจการใช้น้ำฉีด การใช้แนวตำรวจแนวทหารประกอบอาวุธโดยมิได้บรรจุกระสุนปืนตามมาตรการขั้นเบา ไม่น่าจะได้ผลเพราะกลุ่มผู้ก่อการจราจลไม่ยำเกรง ..หากการดำเนินการของกลุ่มผู้ก่อการจลาจลที่รวมอยู่กับประชาชนยังคงอยู่ จะต้องเกิดความไม่ปลอดภัยทั้งแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน ผู้ก่อการจลาจลเหล่านี้สมควรจะต้องถูกสลายและควบคุมตัวถ้าจำเป็น เพื่อหยุดก่อความวุ่นวายที่เกิดขึ้น "


บทสรุป

ปรากฏการณ์ที่สำคัญในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ คือการชุมนุมของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยประกอบด้วยชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากกรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ทั้งนี้เนื่องจากสองทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจและสังคมไทยได้พัฒนาไปมาก ทำให้ชนชั้นกลางที่เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ เห็นเด่นชัดขึ้นผู้ร่วมชุมชุมหลายคนมีโทรศัพท์มือถือ ขับรถเก๋งส่วนตัวไปร่วมชุมนุมและมีเป็นจำนวนมากที่มีกิจการเป็นของตนเอง
จากการสำรวจของสามคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยใช้ผลสำรวจจำนวน ๒,๐๐๐ ชุดมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ

อายุของผู้ชุมนุม

๒๐-๒๙ ปี ๓๙.๔ %
๓๐-๓๙ ปี ๓๖.๕ %
๔๐-๔๙ ปี ๑๔.๒ %
๕๐ ปีขึ้นไป ๖.๗ %

อาชีพของผู้ชุมชุม

เจ้าของกิจการ ๑๓.๗ %
เอกชน ๔๕.๗ %
ราชการ ๑๔.๘ %
รัฐวิสาหกิจ ๖.๒ %

รายได้ของผู้ชุมนุม

รายได้ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ บาท ๑๔.๑ %
,๐๐๐ - ๙,๙๐๐ บาท ๒๘.๕ %
๑๐,๐๐๐ - ๑๙,๙๙๙ บาท ๓๐ %
๒๐,๐๐๐ - ๕๐,๐๐๐ บาท ๑๕.๕ %
สูงกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท ๖.๒ %

จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลดังกล่าว ผู้ร่วมชุมชุมเป็นชนชั้นกลางของสังคมมีจำนวนมาก ระดับและจำนวนของชนชั้นกลางแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในแง่อายุ อาชีพ และรายได้ กล่าวได้ว่าเป็นความแตกต่างในแง่คุณภาพ ไม่ใช่เพียงปริมาณ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่าการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยประสพความสำเร็จ โดยที่ฝ่ายรัฐบาลซึ่งแม้จะมีกำลังทหารหนุนหลัง ก็ไม่สามารถปราบปรามประชาชนได้นั้นไม่ได้เกิดจากสภาพการขยายตัวของชนชั้นกลางเพียงอย่างเดียว หากเกิดจากตัวแปรต่างๆ หลายอย่างด้วยกันคือ

๑. แนวโน้มของโลกปัจจุบันคือการมีระบบการเมืองแบบเปิด และเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ กระแสแห่งประชาธิปไตยดังกล่าวแผ่กระจายไปทั่วโลก แม้กระทั่งสหภาพโซเวียตก็หนีไม่พ้น

๒. ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนมีมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การศึกษา สื่อมวลชน เทคโนเลยีสานสนเทศ

๓. เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นประวัติศาสตร์ที่คอยกระตุ้นเตือน ความทรงจำถึงการต่อสู้และการเสียสละ วิญญาณเสรีชนดังกล่าวมีการสืบทอดมาโดยความทรงจำ การศึกษาและการปลุกเร้า

๔. เศรษฐกิจไทยไม่ใช่เศรษฐกิจการเกษตรเป็นหลักอีกต่อไป แต่เป็นเศรษฐกิจผสมมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและกายภาพ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและการเมืองมีสูง การใช้อำนาจเผด็จการแบบสังคมเกษตรจึงไร้ผล

๕. เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ปฏิบัติการของผู้อยู่ในอำนาจล้าสมัย การส่งโทรสาร การับข่าวสารจากต่างประเทศล้วนแต่ทำให้การปิดข่าวสารและการบิดเบือนเป็นไปได้ยาก

๖. การต่อต้านนายกรัฐมนตรีเกิดจากการที่นายกรัฐมนตรีผิดคำสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชนตอนที่เรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็มาเสียคำพูดเท่ากับเป็นการหลอกลวงประชาชน นอกจากนั้นท่าทีแข็งกร้าวและเชื่อมั่นในอำนาจเท่ากับเป้ฯการยั่วยุยิ่งขึ้น นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรียังเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการทหารและการสืบทอดอำนาจ ทำให้เกิดความเคืองแค้นในหมู่ประชาชน

๗. การประเมินพลังประชาชนต่ำและเข้าใจว่าเป็นมวลชนจัดตั้งของฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว บนฐานของการประเมินดังกล่าว จึงคาดว่าถ้ามีการกวาดล้างด้วยกำลังประชาชนผู้ประท้วงจะแตกกระเจิงเพราะความรักตัวกลัวตาย แต่การณ์กลับตรงกันข้าม

๘. วิกฤติแห่งความน่าเชื่อถือ การตระบัดสัตย์โดยอ้างว่า " เสียสัตย์เพื่อชาติ " ทำให้คำพูดทุกคำพูดของท่านนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาล สื่อมวลชนของรัฐ ขาดความน่าเชื่อถือ

๙. ความเชื่อแบบเก่าที่ว่าอำนาจบริสุทธิ์สามารถสยบได้ทุกอย่างเป็นความเชื่อที่ล้าสมัย ไม่ทันเหตุการณ์โลกเป็นวุฒิภาวะของคนรุ่นเก่าที่ไม่ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้มองภาพผิด ตีความข้อมูลผิด รับฟังแต่ข้อมูลของผู้สอพลอ จึงนำไปสู้ปัญหาวิกฤต ผลสุดท้ายคือการทำลายตนเอง



******************************************
Real footage video

Video 1. - Upload by Wanlop96 

- Channel : TeamWZ CA






**************************************************************************
Reference : อ้างอิง


รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย / นิตยสารสารคดี 
-  http://www.Geocities.com/Thaifreeman 
http://en.wikipedia.org/wiki/Black_May_(1992) 
- Google
- Youtube

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น